ภูมิธรรม เผย 4 มาตรการช่วยชาวนา พร้อมอัดงบ 6.9 หมื่นล้าน ป้องกันราคาข้าวตกต่ำ
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะใช้งบประมาณจำนวน 69,043 ล้านบาท ในการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกผ่าน 4 มาตรการหลัก
1. มาตรการการเก็บสต๊อก สำหรับเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วย 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี วงเงินรวม 10,120.71 ล้านบาท
2. มาตรการเก็บสต๊อก สำหรับผู้ประกอบการโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน วงเงินรวม 2,120 ล้านบาท
3.มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% วงเงินรวม 481.25 ล้านบาท
4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงินรวม 56,321.07 ล้านบาท
ปีนี้เราอาจจะไม่มีมาตรการรับจำนำข้าว หรือมาตรการประกันรายได้ แต่ก็มีโครงการช่วยเหลือดูแลเสถียรภาพราคาข้าว 14 ล้านตัน ที่กำลังทยอยออก โดยให้เกษตรกร สหกรณ์ และให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือก ไม่ตกต่ำ
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานมาตรการของรัฐบาลก็มีความพอใจ นอกจากนี้ ส่วนของชาวนาก็มีข้อเสนออื่น ๆ เช่น แผนรองรับเอลนิโญต่อรัฐบาล เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่มีอายุยาวและได้ผลผลิตที่ทีคุณภาพ เช่น อายุข้าวเก็บเกี่ยวไม่เกิน 100 วัน มีผลผลิตสูง มีความต้านทานต่ออุณหภูมิสูง เหตุที่ต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ชาวนาบางส่วนใช้พันธุ์ข้าวของเวียดนาม เนื่องจากมีผลผลิตสูง และเป็นที่ต้องการของโรงสี ซึ่งมีผลผลิตต่อไร่ที่ 1,000 บาท/กิโลกรัม ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่การหาแหล่งน้ำ ที่รัฐต้องจัดหาพื้นที่ให้กับเกษตรกร แม้ขณะนี้ฤดูฝนและมีการกักเก็บน้ำพอใช้ในช่วงนี้ ถ้าช่วงฝนขาดช่วงจะพิจารณาตามระยะเวลา ขณะนี้กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เตือนให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาให้ลดการทำนา แต่เกษตรกรไม่สามารถลดการทำเกษตรได้ เพราะจะเกิดความเสียหายต่อรายได้