รู้จักอาชีพ สัปเหร่อ รายได้ไม่ธรรมดา ทั้งในไทยและต่างประเทศ
กระแสความนิยมของภาพยนตร์ "สัปเหร่อ" หนึ่งในจักรวาลไทยบ้านเดอะซีรีส์ของ "ธิติ ศรีนวล" ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่รายได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าจะสร้างสถิติใหม่ในวงการหนังไทยหรือไม่ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจคือ เมื่อพูดถึงสัปเหร่อ ไม่เพียงแต่ตัวละครอย่าง "เจิด" ที่รู้สึกขนพองสยองเกล้า เมื่อทราบว่าจะต้องมาช่วยงานพ่อที่เป็นสัปเหร่อเท่านั้น คนทั่ว ๆ ไปก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน แต่คุณทราบหรือไม่ว่า "สัปเหร่อ" ถือว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่ง อาชีพนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่าง บีบีซีรวมรวมมาเล่าให้ฟัง
รายได้ของอาชีพสัปเหร่อ ในต่างประเทศ สัปเหร่อ ถูกเรียกด้วยคำที่หลากหลาย บ้างก็เรียกว่า undertaker บ้างก็เรียกว่า funeral director แต่การจัดงานศพในต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก มีลักษณะเป็น บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการศพแบบครบวงจร ตั้งแต่งานเอกสาร จัดเตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในการเผาหรือฝังศพ ครอบครัวของผู้วายชนม์อาจจะมีหน้าที่เพียงจ่ายเงินค่าบริการ แล้วก็เตรียมตัวร่วมงานเท่านั้น โดยแทบไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ด้วยตัวเอง
แม้ว่าจะเป็นงานที่ดูแปลกและไม่น่าพึ่งประสงค์ เพราะต้องจัดการกับร่างผู้เสียชีวิต แต่งานสัปเหร่อถือว่าเป็นงานที่มีรายได้ไม่น้อยในต่างประเทศ ข้อมูลจากเว็บไซต์บริการอาชีพแห่งชาติของอังกฤษ National Careers Service ได้ให้ข้อมูลว่า สัปเหร่อมีรายได้ระหว่าง 20,000-27,000 ปอนด์ ต่อปี หรือราว 8.7 แสน - 1.1 ล้านบาทต่อปี
เว็บไซต์สื่อแคนาดาอย่าง เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ เคยรายงานเมื่อปี 2014 ว่า งานบริการงานศพ มีรายได้ราว 45,000-50,000 ดอลลาร์แคนาดา หรือราว 1.1-1.3 ล้านบาทต่อปี แต่หากเป็นผู้มีประสบการณ์จะได้รับรายได้สูงกว่านี้ ส่วนในไทย รายได้ของสัปเหร่ออาจจะไม่มากนัก ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อมวลชนที่เคยรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุว่า สัปเหร่อชาวไทยจะมีรายได้แบบต่อครั้ง เนื่องจากมีลักษณะรับจ้างเป็นครั้งคราว มากกว่าที่จะเป็นรูปแบบองค์กร โดยราคาค่าบริการต่อครั้งจะอยู่ที่ราว 1,000-1,300 บาท นอกจากสัปเหร่อรูปแบบดั้งเดิมแบบที่ปฏิธารทำแล้ว ในไทยยังมีธุรกิจจัดการงานศพแบบมืออาชีพเหมือนกับในต่างประเทศ แต่ส่วนมากจะเป็นบริการสำหรับผู้มีรายได้สูง รวมทั้งชาวต่างชาติที่พักอาศัยในประเทศไทย
อะไรคือสิ่งที่ต้องแลกมา กับการทำหน้าที่สัปเหร่อ สัปเหร่อเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับการจากลา ความโศกเศร้า และคราบน้ำตาของครอบครัวผู้วายชนม์อยู่ทุกวัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จรรโลงใจนัก ดังนั้น ผู้ที่จะมาทำอาชีพนี้จึงต้องเตรียมความพร้อมและแลกบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อมาประกอบอาชีพนี้ด้วย
ที่มาของสัปเหร่อในไทย "ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศพตั้งแต่ทำพิธีมัดตราสัง จนกระทั่งนำศพไปฝังหรือเผา" คือความหมายของคำว่า "สัปเหร่อ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อาชีพนี้ถือว่าผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งยังเป็นอาชีพที่เคียงคู่วัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันต้องนับว่าสัปเหร่อเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมากขึ้นเพราะมีคนสนใจประกอบอาชีพนี้น้อยลง
ปดิวลดา บวรศักดิ์ เขียนอธิบายที่มาของคำ ๆ นี้ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ต.ค. โดยสันนิษฐานตามหนังสือ “ประเพณีเนื่องในการตาย” ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ว่าน่าจะมีรากศัพท์จากภาษาเขมรที่รับมาจากภาษาบาลีมา คือคำว่า "สัปเรอ" ต่อมายังมีบันทึกปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ระบุถึงผู้ที่ทำหน้าที่ปลงศพและจัดการความสยดสยองของบุคคลที่สิ้นลมหายใจให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงศพของคนไร้บ้าน แม้ว่าจะไม่ระบุที่มาของคำ แต่ในครั้งนั้น "สัปเหร่อ" ถูกกล่าวถึงด้วยคำว่า "ขุนกะเฬวราก" หรือบางก็ว่า "นายป่าช้า" ต่อมาอาชีพสัปเหร่อได้รับการจัดที่จัดทางเป็นกิจลักษณะมากขึ้นภายหลังจากทางการในสมัยที่ยังคงเป็นสยาม ได้ประกาศใช้ "กฎหมายเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า" เมื่อ พ.ศ. 2460 หรือ ราว 100 กว่าปีที่แล้ว จึงมีผลให้ "นายป่าช้า" มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับศพอย่างเป็นทางการ
ขอบคุณ ข้อมูลจาก bbc.com