คลังชี้แจง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีกลุ่ม 10 ล้านคน ต้องยืนยันตัวตนผ่าน KYC
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการอัปเดตเกี่ยวกับเงินดิจิทัล ระบุว่า เงื่อนไขและเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในเบื้องต้นนั้น การรับสิทธิโครงการไม่ต้องมีการลงทะเบียน แต่ประชาชนยังต้องยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐที่ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้กว่า 40 ล้านคน ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่ สามารถเริ่มต้นใช้จ่ายผ่านโครงการได้เลย ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐเลย และผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ (โครงการเงินดิจิทัลแจกให้บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป) จะต้องยืนยันตัวตนอีกครั้ง เพื่อดำเนินการในขั้นตอน KYC
ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มผู้ที่จะได้สิทธิ์ออกเป็น 2 กลุ่มไว้ชัดเจน คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มคนที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, เราเที่ยวด้วยกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, ชิม ช้อป ใช้, ช้อปดีมีคืน และโครงการเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 40 ล้านคน ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่ สามารถเริ่มใช้จ่ายผ่านโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้เลย
กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐมาก่อน จำนวน 10 ล้านคน มีอายุไม่ถึง 18 ปี จะต้องยืนยันตัวตนในขั้นตอน KYC ผ่านช่องทางสถาบันการเงินของรัฐ และใช้บัตรประชาชนผ่านกลไกของรัฐที่กำหนด
ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนผ่าน KYC หรือ Know Your Customer คือ กระบวนการที่สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้บริการ โดยใช้เอกสารทางราชการที่ออกข้อมูลส่วนตัวให้ เช่น ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ วันเกิด โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินใช้ขั้นตอน KYC เมื่อเปิดบัญชีให้กับผู้ใช้บริการ
ส่วนการยืนยันตัวตน KYC คล้ายคลึงกับการยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชันเป๋าตัง เช่นเดียวกับโครงการของรัฐบาลก่อนหน้า โดยผู้มีสิทธิต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ถ่ายบัตรประชาชน กรอกเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ พร้อมกับถ่ายรูปสแกนหน้าเพื่อยันยันตัวตน
อย่างไรก็ตาม การแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะใช้แจกเงินในระบบบล็อกเชน (Blockchain) ผ่าน Super App แอปพลิเคชันใหม่ที่กำลังพัฒนาขึ้นโดยธนาคารของรัฐบาล ไม่ใช่แอปพลิเคชันเป๋าตังอย่างที่เคยใช้กันก่อนหน้า