ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศ โรคต้องห้าม เป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช.
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2566 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการกำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการ สำนักงาน ป.ป.ช. ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์โรคในปัจจุบัน รวมทั้งให้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มาและรักษาไว้ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้มีสุขภาพทางกายและจิตเหมาะสม และไม่เป็นโรคร้ายแรง ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช.
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 144 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกรทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 32 ข. (11) ของระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2566
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2562
ข้อ 4 โรคตามข้อ 32 ข. (19) ของระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 คือ
1) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
2) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
3) โรคพิษสุราเรื้อรัง
4) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการออกมาเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นเหตุให้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช.
ข้อ 5 ให้ประธานกรรมกรป้องกันและปราบปรามกรทุจริตแห่งชาติรักษาการตามประกาศนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้หรือการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้เป็นที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค 2566 กำหนด 4 โรคห้ามเข้ารับราชการ โดยระบุเหตุผล ปัจจุบันมีโรคเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 บังคับใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จึงอาจมีความไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์โรคในปัจจุบัน