บางบาลจมแล้ว เจ้าพระยาทะลัก นํ้าป่าพะเยาซัด ดับยกครัว 5 ราย

บางบาลจมแล้ว เจ้าพระยาทะลัก นํ้าป่าพะเยาซัด ดับยกครัว 5 ราย

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวดัง พะเยาระทึก น้ำป่าซัดถล่มหมู่บ้านรอยต่อ 2 อำเภอช่วงกลางดึก ครอบครัวชนเผ่าเย้าเคราะห์ร้ายตายหมู่ยกครัว 5 ศพ กระแสน้ำเชี่ยวกรากซัดคอสะพานขาด เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเร่งซ่อมแซมด่วน ชาวบ้านแฉนาทีเฉียดตายเหตุเกิดขณะนอนหลับอยู่ในบ้านโชคดีตื่นขึ้นมาเผ่นหนีได้ทัน เห็นรถกระบะกับรถไถนาถูกน้ำซัดไปต่อหน้าต่อตา ร้อยเอ็ดยังอ่วมน้ำชีกัดเซาะถนนทางเข้าหมู่บ้านขาด เมืองกรุงเก่าลุ้นระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน นอกแนวคันน้ำไปแล้ว 9 อำเภอ อุตุฯเตือนภาคใต้ยังมีฝนฉ่ำ ขณะที่มวลอากาศเย็นจากจีนจ่อเข้าไทยตอนบน หลายพื้นที่ทั่วไทยยังมีฝนเทกระหน่ำ เกิดเหตุสลดใจน้ำป่าซัดถล่มหมู่บ้านกลางดึกมีผู้สังเวยชีวิตหลายราย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ต.ค. นายนาวิน สุธรรมเม็ง ปลัดอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา นำกำลังฝ่ายปกครองร่วมกับแขวงการทาง ทหาร และเจ้าหน้าที่ ปภ. ไปตรวจสอบเหตุน้ำป่าไหลหลากซัดคอสะพานหัก บนถนนสายดอกคำใต้-เชียงม่วน บ้านสองแคว ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ เขตติดต่อ ต.สระ อ.เชียงม่วน เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น.วันเดียวกัน ในพื้นที่เกิดฝนตกหนักมีน้ำป่าไหลหลากจากภูเขาลงมาตามลำห้วยกั้งปลา กระแสน้ำพัดเอากอไผ่และเศษกิ่งไม้อัดติดใต้สะพาน ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกจนคอสะพานหัก เจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮมา ตักเศษสวะกิ่งไม้ที่ติดใต้คอสะพานออกแล้วนำดินเข้าถมเพื่อเปิดเส้นทางให้รถสัญจรได้ชั่วคราวก่อน

นอกจากนี้น้ำป่ายังไหลหลากเข้าไปในหมู่บ้านพื้นที่รอยต่อ 2 อำเภอคือ อ.เชียงม่วน กับ อ.ดอกคำใต้ เบื้องต้นมีรายงานชาวบ้านสูญหาย 7 คน เป็นชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 13 บ้านห้วยกั้งปลา ต.สระ อ.เชียงม่วน 5 คน เจ้าหน้าที่ระดมกำลังค้นหาจนพบผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย นายภาณุวัฒน์ ฟุ้งเรืองฤทธิ์ อายุ 50 ปี นางปาลิดา ฟุ้งเรืองฤทธิ์ อายุ 44 ปี นายศรัญ ฟุ้งเรืองฤทธิ์ อายุ 22 ปี นายภานุพันธ์ สุรเมธีมานพ อายุ 50 ปี และ ด.ญ.กัญญารัตน์ ฟุ้งเรืองฤทธิ์ อายุ 10 ขวบ

ทั้งหมดเป็นชนเผ่าเย้าครอบครัวเดียวกัน ส่วนผู้สูญหายอีก 2 คน เป็นชาวบ้านหมู่ 6 ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ พบตัวแล้วยังมีชีวิตทั้งคู่หลบหนีขึ้นไปอยู่บนเขา เจ้าหน้าที่ไปรับลงมาได้ปลอดภัย นายขาว เมืองอินทร์ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 6 ต.หนองหล่ม เล่าว่า ขณะเกิดเหตุนอนหลับอยู่ในบ้าน ภรรยาปลุกให้ตื่นขึ้นมารีบหนีน้ำป่าขึ้นไปบนที่สูงได้ปลอดภัย ขณะที่กระแสน้ำพัดเอารถกระบะและรถไถนาไหลไปตามน้ำไกลจากบ้านกว่า 50 เมตร โชคดีที่ตนกับภรรยาตื่นขึ้นมาก่อนรีบหนีได้ทันไม่เช่นนั้นถูกกระแสน้ำพัดไปด้วย

ศูนย์บัญชาการอุทกภัย จ.ร้อยเอ็ด รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้แม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายไปแล้วเกือบ 8 หมื่นไร่ มีพื้นที่ประสบภัย 12 อำเภอ 82 ตำบล 694 หมู่บ้าน ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบมวลน้ำชีล้นตลิ่งกัดเซาะถนนทางเข้าหมู่บ้านขาด ที่บ้านนางาม ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง ชาวบ้านในหมู่บ้านพากันตื่นตกใจรีบขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงและเตรียมสิ่งของจำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หากคันดินกั้นแม่น้ำชีที่โอบล้อมหมู่บ้านเอาไม่อยู่จะทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านทันที ขณะนี้บางจุดในพื้นที่ลุ่มพบว่าเริ่มมีน้ำไหลซึมเข้าหมู่บ้านแล้ว จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชน ต.บางหลวง อ.บางบาล บ้านเรือนริมคลองบางหลวง ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำน้อย

ส่วนใหญ่อยู่นอกคันกั้นน้ำมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมสูง 30-50 ซม. ส่วนถนนที่ใช้สัญจรในชุมชนเริ่มถูกน้ำท่วมแล้วเช่นกัน นายมนตรี สมาธิ กำนันตำบลบางหลวง เผยว่า ในพื้นที่มีบ้านเรือนประชาชน 290 หลังใน 5 หมู่บ้าน ตอนนี้ถูกน้ำท่วมแล้วประมาณ 200 หลัง บ้านที่ติดคลองบางหลวง 80 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบมาประมาณ 1 สัปดาห์ ล่าสุดเช้าวันนี้น้ำล้นเข้าท่วมถนนในชุมชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่าชาวบ้าน ยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่เพราะเป็นบ้านริมน้ำที่ได้รับผลกระทบก่อน เป็นห่วงถ้าน้ำผ่านข้ามถนนในหมู่บ้านต้องใช้เรือสัญจรเข้าออก ถ้าน้ำไม่เยอะใช้เรือไม่ได้ก็ต้องเดินลุยน้ำจะลำบากมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำท้ายเขื่อนที่ 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสาขา และแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านเรือนริมน้ำนอกแนวคันน้ำไปแล้ว 9 อำเภอ 70 ตำบล 11,950 ครัวเรือน ได้แก่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร อ.บางซ้าย อ.บางปะหัน อ.มหาราช และ อ.บางปะอิน ส่วนที่ จ.สิงห์บุรี เริ่มมีผลกระทบที่หมู่ 5 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นมาเสมอแนวถนนริมน้ำ อบจ.สิงห์บุรี ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาเสริมคันดินเพื่อป้องกันน้ำไหลบ่าเข้าบ้านเรือนประชาชน ขณะที่บ้านบางโฉมศรี หมู่ 1 ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบ้างแล้ว

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศวันที่ 16-19 ต.ค. ความกดอากาศสูงกำลังอ่อนหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เข้าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง หลังจากนั้นความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้

ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเล อันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเสนอผลสำรวจเรื่อง ประชาชนพอใจใครแก้ภัยน้ำท่วม ระหว่างวันที่ 9-14 ต.ค.66

จากประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนบน จำนวน 1,148 ตัวอย่าง เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อรัฐบาลในการเยียวยาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 83.6 ระบุพึงพอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 11.2 ระบุพึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 5.2 ระบุพึงพอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่พึงพอใจเลย

เมื่อถามถึงกระทรวงและหน่วยงานรัฐในการช่วยเหลือ ร้อยละ 68.4 ระบุ กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 65.9 ระบุ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 63.5 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 54.2 ขณะที่นักการเมืองโดดเด่นช่วยเหลือผู้ประสบภัย อันดับแรก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ร้อยละ 66.7 อันดับสอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ร้อยละ 66.0 อันดับสาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 62.4

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ