รัฐบาลพิจารณารื้อเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล ยอมรับที่ผ่านมารัฐบาลสื่อสารไม่ครบ

รัฐบาลพิจารณารื้อเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล ยอมรับที่ผ่านมารัฐบาลสื่อสารไม่ครบ

หลังจากที่รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการอัปเดตความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงดารดังกล่าว ระบุว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อโครงการถูกวิจารณ์จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทาง

จากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้มีวงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยแจกครั้งเดียว 10,000 บาท ผ่านช่องทาง Blockchain โดยจ่ายให้กับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน รวม 56 ล้านคน และผู้ได้รับเงินจะใช้จ่ายได้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ในขณะที่ข้อเสนอที่กำลังพิจารณาอาจมีการลดวงเงินรวมเหลือ 400,000 ล้านบาท โดยทยอยแจก 10,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ควรได้รับการช่วยเหลือ คาดว่าจะเหลือ 40 ล้านคน ผ่านช่องทางเป๋าตังค์ และใช้เงินได้ในรัศมีเกิน 4 กิโลเมตร

โดย น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับแหล่งงบประมาณโครงการจะเน้นการรักษาวินัยการเงินการคลังประเทศ และการจัดหาแหล่งเงินต้องไม่กระทบเครดิตเรทติ้งประเทศ โดยอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน เบื้องต้นมี 3 ทางเลือก ดังนี้

1. การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งขอให้เลื่อนโครงการขนาดใหญ่บางโครงการไปปีงบประมาณถัดไป หรือบางโครงการที่ขอซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ขนาดใหญ่ขอให้ชะลอไว้ก่อน แล้วรัฐบาลเติมเงินบำรุงรักษาให้

2. การใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ 200,000-300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 โดยแม้ขยายเพดานหนี้แต่รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรงบประมาณคืนให้หน่วยงานที่กู้ยืมเงิน ซึ่งหากดูขนาดงบประมาณแผ่นดินปีละ 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้

3. รัฐบาลกู้เงินโดยตรง ซึ่งกู้ได้เพราะหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% โดยขนาด GDP อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลมีช่องที่จะกู้เงิน 1.7 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดูช่องทางนี้

นอกจากนี้ น.พ.พรหมินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลทำงานมา 29 วัน ยอมรับว่าการทำงานของรัฐบาลนั้นเร็วเกินไป และอาจไม่อธิบายรายละเอียดได้หมด ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจต้องอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานของรัฐบาลหลายส่วนที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยภาพรวมจะพยายามลดค่าครองชีพประชาชน และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

นอกจากนี้ ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์ CV-19 ได้อย่างเต็มศักยภาพ ขณะที่รายได้ของประชาชนก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91.6% ของจีดีพี

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ