ดร.ปรีชา เผย แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ส่อเป็นโมฆะ หากพิจารณาข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
จากกรณีมีนักวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ ทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งอดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมร้อยกว่าคนลงนาม แสดงความเห็นเกี่ยวกับ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล พร้อมต้องการให้ ครม.เศรษฐา 1 ยกเลิกการแจกเงินดังกล่าวให้ประชาชน เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย ท่ามกลางคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยปะปนกันไป
โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 140 กล่าวคือ เงินแผ่นดิน คือ เงินที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของโดยส่วนรวม
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงต้องบัญญัติหลักเฉพาะไว้เหมือนกันว่า จะนำเงินแผ่นดินไปจ่ายได้ ต้องมีกฎหมายอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญคือกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 บัญญัติไว้ ดังนี้ การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป
โดยได้แยกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแผ่นดินตามมาตรา 140 ที่บัญญัติไว้เป็นวรรคเดียวกันทั้งหมดออกมาเป็นสองวรรค เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ กล่าวคือหลักเฉพาะและข้อยกเว้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแจกเงินดิจิทัล ที่เป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามหลักเฉพาะแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 ของรัฐบาลเศรษฐา ไม่เข้าทั้งหลักเกณฑ์ในตอนต้นของมาตรา 140
กล่าวคือไม่มีกฎหมายอนุญาตตามที่มาตรา 140 บัญญัติอนุญาตไว้ และไม่อยู่ในข่ายจำเป็นรีบด่วน ตามมาตรา 140 ตอนท้ายที่เป็นข้อยกเว้น เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่ถือเป็นกฎหมาย การจ่ายตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่ ครม.เศรษฐา 1 เพื่อบิดเบือนว่าไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินแผ่นดิน แต่เป็นการแจกเงินดิจิทัล แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่า ไม่อาจตั้งได้ทันในงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เพราะจะต้องล่าช้าไปหลายเดือน จะต้องขอยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็หนีไม่พ้นทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จะเป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคแรก ที่ไม่อาจตัดรายจ่ายประเภทนี้ได้ ก็จะเป็นผลให้งบประมาณรายจ่ายปีนั้นมีวงเงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น เพราะต้องกู้เพื่อการนี้มากขึ้น
หากเป็นเช่นนี้การแจก 1 หมื่นบาท จึงเป็นการขัดต่อวินัยทางเศรษฐศาสตร์การเงินและการคลัง ตามความเห็นของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่มีมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ๆ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ การแจก เงินดิจิทัล จึงตกเป็น โมฆะ