แพทย์ด้านสมองเผย 9 ปัจจัย ทำเด็กโหดร้าย ไม่ใช่อะไรก็โทษติดเกม
จากกรณีเด็กวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อมีสอบประวัติพบว่าผู้ร้ายรายนี้มีประวัติติดเกม ทำให้หลายต่อหลายคนมุ่งเป้าไปที่ประเด็นนี้ แต่ความจริงมันมีหลายปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดเหตุกาณ์ในครั้งนี้ โดย ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคระบบประสาทและสมอง ให้ความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า มีคนขุดประวัติว่าเด็กติดเกมยิงกัน เกมโหดแล้วมันจริงหรือไม่
เรื่องราวนี้ ถูกวิจัยในสหราชอาณาจักร ในกลุ่มเด็กติดเกมรุนแรงโหดร้ายกว่า 1,000 คน แล้วเอาเด็กเหล่านี้มาทดสอบทางจิตวิทยาพฤติกรรม ว่าโหดร้าย และก้าวร้าวหรือไม่ โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 14-15 ปี วัยเดียวกับมือปืนที่ก่อเหตุ และทำการวิจัยในปี 2019 ผลวิจัยพบว่าไม่เกี่ยวกันเลย เด็กติดหรือเล่นเกมโหดร้ายยิงกัน ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรม จริง ๆ ในต่างประเทศทำวิจัยเชิงนี้เยอะ ผลมันออกมาว่า ไม่ชัดเจน แต่ในกลุ่มจิตเวช สิ่งแวดล้อมหลายอย่างอาจเป็นตัวกระตุ้น ทั้งข่าว ทั้งเลียนแบบ หรือเกม
แล้วอะไรเกี่ยวกับจิตใจที่โหดร้าย หมอสุรัตน์สรุป 9 ปัจจัย ทำเด็กโหด ดังนี้
1. สภาพแวดล้อมทางสังคม
การเติบโตในละแวกใกล้เคียงที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูง หรือพบปะกับกลุ่มเพื่อนอาชญากร สามารถเพิ่มโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางอาญาได้
2. พลวัตของครอบครัว
สภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ผิดปกติ ความผิดทางอาญาของผู้ปกครอง การละเลย หรือการทารุณกรรมในวัยเด็ก อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะมีพฤติกรรมทางอาญาในวัยหนุ่มสาว ตีเด็ก ทุบหัวเด็ก โตขึ้น มันก็ไปตีหัวคนอื่น
3. การใช้สารเสพติด
การใช้สารเสพติด รวมถึงการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางอาญาในหมู่คนหนุ่มสาว เนื่องจากอาจทำให้วิจารณญาณลดลงและนำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายได้
4. ปัญหาสุขภาพจิต
คนหนุ่มสาวที่มีความผิดปกติด้านสุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ได้รับการวินิจฉัยอาจมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทางอาญามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาการของพวกเขานำไปสู่ความหุนหันพลันแล่นหรือก้าวร้าว พ่อแม่สังเกตดี ๆ อย่าอวยว่าลูกฉันปกติ
5. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ความไม่มั่นคงทางการเงิน การขาดโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในการจ้างงานที่จำกัด อาจทำให้คนหนุ่มสาวบางคนหันเข้าหากิจกรรมทางอาญาเพื่อความอยู่รอด
6. แรงกดดันจากเพื่อนฝูง
อิทธิพลจากเพื่อนฝูงที่มีพฤติกรรมก่ออาชญากรรม สามารถชักนำให้คนหนุ่มสาวเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้ เนื่องจากพวกเขาอาจแสวงหาการยอมรับจากแวดวงสังคมของตน พ่อแม่ ให้ลูกพาเพื่อนๆ มาบ้านบ้าง สอดส่องดูแล
7. การขาดแบบอย่างเชิงบวก
การไม่มีแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่หรือพี่เลี้ยงในชีวิตคนหนุ่มสาว อาจส่งผลให้ขาดคำแนะนำและเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมทางอาญา ลูกคือกระจกส่องตัวเอง ดูเอาไว้
8. ความขาดด้านการศึกษา
การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถจำกัดโอกาสสำหรับเยาวชน และอาจผลักดันพวกเขาไปสู่กิจกรรมทางอาญา
9. ความหุนหันพลันแล่น
เนื่องจากอยู่ในช่วงพัฒนาการของคนหนุ่มสาว อาจมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นมากกว่า ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมทางอาญาในบางสถานการณ์ได้
นอกจากนี้ อาจารย์หมอสุรัตน์ ยังระบุอีกด้วยว่า หากหลายคน มีหลายปัจจัย ก็ยิ่งเสี่ยง และมีอีกข้อ เป็นกรรม เกิดมา เป็นไซโคพาธ (psychopath) เท่าที่ทราบจากข่าว เด็กมีภาวะจิตเวช อาจเกิดจากแรงกดดันในวัยเด็ก เข้าสังคม เจอเพื่อนที่เร่งเร้าเรื่องการใช้ความรุนแรง ท้าทายกัน ทำให้สภาพจิตใจที่ไม่ปกติ คิดกระทำโดยรู้เท่าถึงการณ์แบบนี้ ขอแสดงความเสียใจ ทั้งผู้เสียชีวิต อนาคตของเด็กที่ดันใช้ชีวิตแบบนี้และพ่อแม่ที่ต้องถูกตราบาปติดตัวไปชั่วชีวิต