เพิ่งรู้นะเนี่ย ไมยราบ วัชพืชดูไร้ค่า แต่มีสรรพคุณทางยามากกว่าที่คิด

เพิ่งรู้นะเนี่ย ไมยราบ วัชพืชดูไร้ค่า แต่มีสรรพคุณทางยามากกว่าที่คิด

หาดพูดชื่อ ไมยราบ หลายคนอาจรู้จัก และอีกหลายๆคนอาจไม่รู้จัก แต่หากได้เห็นภาพของเจ้าต้นพืชชนิดนี้ก็จะต้องร้องอ๋อกันออกมาเลย ซึ่งไมยราบเป็นพืชที่มีชื่อเรียกหลากหลายด้วย

ไมยราบ ชื่อที่เรียกขานกันหลากหลาย

ไมยราบ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimosa pudica L.

ไมยราบ ภาษาอังกฤษ : Sensitive plant, Sleepy plant, Dormilones, touch-me-not, หรือ Shy plant

ไมยราบ ชื่อสามัญ : ไมยราบ (Sensitive plant)

ไมยราบ ชื่อตามท้องถิ่น : กระทืบยอด, คันร่ม ,เช้ายอด, หญ้าจิยอบ, หญ้าปันยอบ, จิยอบ, ต้นตาลหน่อปีเหมาะ, หัวใจไมยราบ, หนามหงับ, กะหงับ, หนามหญ้าราบ

ไมยราบจัดเป็นไม้ล้มลุก อยู่ในพืชตระกูลถั่ว ไมยราบมีลำต้นสูงได้มากกว่า 3 เมตร แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น โดยลำต้นมีขนาดประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีขนละเอียดและหนามโค้งงอตลอดทั้งลำต้น ใบประกอบคล้ายขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 7-12 คู่ ใบยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ไวต่อการสัมผัส ก้านดอกสั้นมาก กลีบดอกสีเหลือง มีเส้นสีม่วงตามยาวตรงปลายกลีบ

ประโยชน์ของไมยราบที่นอกจากจะช่วยป้องกันการทลายของหน้าดิน และเป็นพืชคลุมดินแล้ว ไมยราบ สรรพคุณก็ไม่ธรรมดาเลยนะคะ โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาของไมยราบ บอกเลยว่าคนรักสุขภาพต้องรู้ให้ครบ ก่อนจะเผลอถอนไมยราบทิ้งไปซะก่อน

สรรพคุณของไมยราบ

1. ขับปัสสาวะ

ตำรับยาไทยใช้ไมยราบทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีปัสสาวะขุ่นข้น ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีแดง (ปัสสาวะปนเลือด) มีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ อีกทั้งในตำรับยาสมุนไพรยังใช้ต้นไมยราบเป็นยาแก้กษัยอีกด้วยค่ะ

โดยวิธีใช้ไมยราบขับปัสสาวะให้นำเครือไมยราบทั้งต้นล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วนำมาต้มกับรากสะเดาดิน พอน้ำเดือดได้ที่ให้กรองน้ำต้มมาดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้กษัยอื่น ๆ

2. รักษาโรคกระเพาะ

ตำรับยาแผนไทยจะใช้รากไมยราบตากแห้ง 1 มัด มาต้มน้ำดื่มเพื่อรักษาโรคกระเพาะ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ดีในเด็ก บำรุงกระเพาะ แก้ลำไส้อักเสบ และแก้บิด

3. แก้ไอ ขับเสมหะ

รากของไมยราบมีสรรพคุณช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยนำรากไมยราบตากแห้ง หรือจะใช้รากสดล้างสะอาดก็ได้ในปริมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นชา จะช่วยบรรเทาอาการไม่สบายดังกล่าวได้

4. แก้ไข้ ดับพิษร้อน

ตำรับยาแผนไทยใช้ไมยราบทั้งต้นต้มน้ำกินแก้พิษไข้ ดับร้อน โดยจิบน้ำต้มจากต้นไมยราบต่างน้ำชา

5. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

น้ำต้มจากรากไมยราบมีฤทธิ์ระงับประสาท จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนให้สาว ๆ ได้ และการดื่มน้ำอุ่น ๆ ก็ยังมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมเดินสะดวกขึ้นด้วยนะคะ

6. บรรเทาอาการปวดข้อ

รากของใบไมยราบมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาท จึงสามารถนำรากมาต้มเป็นชาจิบเพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูก ปวดตามข้อได้

7. แก้โรคหนองในและนิ่วในถุงน้ำดี

ตำรับยาจากฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มจากรากไมยราบ ดื่มแก้โรคหนองในและโรคนิ่วในถุงน้ำดี

8. แก้งูสวัด เริม

นำใบไมยราบล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมเหล้าขาวลงไปเล็กน้อย พอให้คั้นน้ำแล้วนำมาพอกผิวที่เป็นแผล มีอาการเริม มีตุ่มงูสวัด ได้วันละ 3-4 ครั้ง

9. แก้ลมพิษ ผื่นคัน

ใช้ต้นไมยราบตำผสมเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็นลมพิษให้ทั่ว

10. แก้แผลมีหนอง

นำใบไมยราบล้างสะอาด จากนั้นนำมาตำใส่ข้าวสุก เกลือ 1 เม็ด พิมเสน 2-5 เกล็ด ตำให้ละเอียด พอกแผลที่มีหนอง หรือพอกหัวฝี

11. แก้ตกขาว ขับระดู

สาว ๆ ที่มีอาการตกขาวมาก ลองนำใบไมยราบมาต้มกับหญ้าหวาดหลุบ ต้มแล้วกรองให้ได้ชา ใช้ดื่มและใช้อาบน้ำ

12. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย

ใบไมยราบที่ล้างน้ำจนสะอาด สามารถนำมาขยี้พอให้น้ำใบออก แล้วมาแปะไว้ตรงที่แมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยบรรเทาอาการคัน และอาการแสบร้อนบนผิวที่ถูกแมลงกัดได้

13. คลายเครียด

เนื่องจากรากไมยราบมีฤทธิ์ระงับประสาท จึงช่วยคลายเครียดและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้นได้ โดยนำรากไมยราบตากแห้งมาต้มน้ำ จิบเป็นชาไมยราบช่วยคลายเครียด

14. บำรุงสตรีหลังคลอด

นำรากสดของไมยราบ ประมาณ 3-5 ราก มาต้มน้ำดื่ม ครั้งละประมาณครึ่งแก้วน้ำชา ดื่มวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยบำรุงร่างกายสตรีหลังคลอดได้

15. ลดน้ำตาลในเลือด

ภาควิชาเภสัชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดลองสรรพคุณไมยราบกับการลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งจากการทดลองกับสัตว์ (หนูทดลอง) ที่เป็นปกติและกลุ่มที่ป่วยเป็นเบาหวาน พบว่า ต้นไมยราบที่สกัดด้วยเอธานอล, ปิโตรเลียมอีเธอร์ และส่วนที่ตรวจพบ Quaternary alkaloids สารสกัดจากต้นไมยราบกับสารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่ป่วยเป็นเบาหวาน (โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดโรค) โดยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ร้อยละ 20 และลดได้เป็นครึ่งหนึ่งของยารักษาโรคเบาหวาน (Tolbutamide)

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ