ครม. เคาะ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เช็กเงื่อนไขกันเลย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 66 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี
เงื่อนไข พักหนี้เกษตรกร ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล
เงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ไม่เกิน 300,000 บาท
สถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs))
ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67
งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตรา 4.50% ต่อปี
มีเกษตรกรที่เป็นลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย. 66)
สำหรับ มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท
เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการพักหนี้เกษตรกร
รับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66-31 ม.ค. 67
ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs สามารถเข้าร่วม พักหนี้เกษตรกรได้ ?
สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน