![ร้านลูกไก่ทอง สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ ปังชา ไปใช้ โซเชียลถกสนั่นเคลมแบบนี้มันได้เหรอ](data/news_data/picture_800/96382d8.jpg)
ร้านลูกไก่ทอง สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ ปังชา ไปใช้ โซเชียลถกสนั่นเคลมแบบนี้มันได้เหรอ
กลายเป็นเรื่องราวที่โลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจ กรณีวันที่ 26 สิงหาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant ของร้านอาหารลูกไก่ทอง ซึ่งมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และร้านปังชาคาเฟ่ 5 สาขา โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน แบรนด์ปังชา
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ปังชา ภาษาไทย และ Pang Cha ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์ จดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
ภายหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่า กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นวงกว้าง ซึ่งหลายคนก็เกิดความสงสัยว่า กรณีดังกล่าวหมายถึงอะไรกัน คือหากร้านอื่นที่ขายเมนูคล้ายกัน จะไม่สามารถใช้ชื่อ ปังชา หรือ ทำเมนู ปังชา ขายเองได้เลยหรือ ทั้งที่ของหวานลักษณะนี้ก็ดูจะคล้ายกันอยู่แล้ว ไม่แปลกที่จะมีชื่อเมนูเหมือนกัน โดยหลายความเห็นให้ความรู้ว่า ไม่สามารถถือสิทธิในการห้ามผู้อื่นไปใช้คำว่า ปัง, ชา ได้
จากการสืบค้นข้อมูล ปังชา จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบว่า น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล เจ้าของแบรนด์ปังชาได้ยื่นคำขอลิขสิทธิ์ ขนไก่ปังชา ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม เลขที่คำขอ 371901 โดยได้เลขทะเบียน 47654 และคำขอเครื่องหมายการค้า เลขที่คำขอ 220133778 โดยได้ทะเบียนเลขที่ 231117892 โดยระบุข้อจำกัดว่า ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันและอักษรไทยทั้งหมดที่ปรากฎอยู่บนเครื่องหมาย ยกเว้น คำว่า KAM
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant
เรียบเรียง siamnews