ประชาธิปัตย์ เร่งสอบ ส.ส.งูเห่า โหวตนายกฯ เศรษฐา
วันที่ 23 สิงหาคม 2566 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่ สส.พรรคประชาธิปัตย์ โหวตสวนมติพรรคในการเลือกนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ มีมติพรรคให้โหวต ไม่ออกเสียง แต่กลับมี ส.ส.โหวตเห็นชอบมากถึง 16 คน
นายสาธิต กล่าวว่า องค์ประกอบของพรรคมี 3 ส่วน คือพรรค กรรมการบริหารพรรค และ สส. แต่การที่ไปปฏิบัติแล้วทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณจนทำให้เกิดความแตกแยกเป็นสิทธิของสมาชิกพรรคจํานวน 20 คน ที่จะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวนว่าพฤติการณ์ที่ทำนั้นมีความสูญเสียต่อพรรคมากน้อยอย่างไร
แม้จะเป็น สส.แต่หากมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไปเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจะร่วมรัฐบาลนั้นต้องมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้นการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์มีขั้นตอนอยู่ บุคคลใดที่เป็น สส.หรือทำหน้าที่รักษาการที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง และไม่ได้รับการมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค หากไปเปิดตัวเกินหน้าที่จนพรรคเสื่อมเสีย ต้องยอมรับว่าในระบบตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปดำเนินการจัดการปัญหาภายในของพรรค
สำหรับการโหวตนายกรัฐมนตรีตามกฏหมายถือเป็นเอกสิทธิ์ แต่ถ้าที่ประชุมมีการพูดคุยและมีมติ ก็ควรจะปฏิบัติตามมติ แต่ถามว่าผิดหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าข้อบังคับพรรคคุ้มครองอยู่ แต่เมื่อมีการคุยแล้วไปลงอีกอย่างหนึ่ง ก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกในพรรค และสร้างความเสียหาย
ส่วนจะต้องขับออกจากสมาชิกพรรคหรือไม่ ก็เป็นไปตามหนักหรือเบา ส่วนตัวมองว่าหนักมาก อยู่ที่ระเบียบข้อบังคับของพรรคว่ากรรมการบริหารพรรคมีมติร่วมกับที่ประชุม ส.ส.อย่างไร
โทษหนัก สามารถขับออกจากพรรคได้ ทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ แต่ความเสียหายในระดับนี้ หัวหน้าพรรคก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวน นายสาธิต กล่าวทิ้งท้าย