สารภาพแล้ว แก๊งส่งพัสดุ เก็บเงินปลายทาง เอาที่อยู่เรามาจากไหน
วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจไซเบอร์ บช.สอท. รายงานว่า แถลงกรณีจับแก๊ง ผจก.สาขาบริษัทขนส่งเจ้าดัง หลอกส่งเก็บเงินปลายทางวันละนับหมื่นชิ้น
วันนี้ 12 ส.ค.66 เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบุกทลายโกดังพัสดุ จับแก๊ง ผจก.สาขาของบริษัทขนส่งเจ้าดัง หลอกส่งเก็บเงินปลายทางวันละนับหมื่นชิ้น ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรมและสัมมนา ตร. (เมืองทองธานี) บช.สอท.
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผ่านช่องทาง Facebook “ตำรวจไซเบอร์ 2” ของ บก.สอท.2 เกี่ยวกับกรณีส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทาง โดยพลเมืองดีพบความผิดปกติของการขนส่งพัสดุ ณ ที่ทำการสาขาของบริษัทขนส่งพัสดุเจ้าดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยพบว่า มีการส่งพัสดุสินค้าที่มีขนาดเดียวกันในรูปแบบ COD หรือ เก็บเงินปลายทาง ประมาณ 10,000 -20,000 ชิ้น ประมาณ 10 วัน/ครั้ง และพัสดุเหล่านั้นมักถูกตีกลับจากผู้รับเป็นจำนวนมาก
พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 จึงสั่งการให้ กก.3 บก.สอท.2 เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยละเอียด เนื่องจากอาจเป็นการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และเป็นนโยบายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำชับและสั่งการไว้แล้ว
ต่อมา พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผกก.3 บก.สอท.2 จึงนำกำลังลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว จนสามารรวบรวมหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายค้น และได้เข้าตรวจค้นเป้าหมาย จากการตรวจสอบทราบว่า ผู้ส่งพัสดุดังกล่าวคือ นายเอกฉันท์ ฯ พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งย่าน ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเช่าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อว่าจ้างคนงานมาแพ็คกล่องพัสดุ และนำไปส่งที่บริษัทขนส่งพัสดุแห่งหนึ่ง สาขาบางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี ครั้งละเป็นจำนวนมาก
จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า นายเอกฉันท์ ฯ ได้ร่วมกับนายนพดลฯ ซึ่งเป็นเซลล์ของบริษัทขนส่ง ร่วมกันเปิดเฟซบุ๊กปลอม โดยมีการลงทุนยิงโฆษณา และว่าจ้างแอดมินเพื่อสนทนากับลูกค้าเพื่อขายสินค้าต่างๆ เช่น ไฟแช็กแบบเติมก๊าซ ลำโพงบลูทูธ และสินค้าอื่นๆ ในราคาไม่เกิน 200 บาท
เมื่อแอดมินเพจได้รับออเดอร์พร้อมชื่อที่อยู่ลูกค้าแล้ว ก็จะทำการบรรจุสินค้าที่ไม่มีมูลค่าลงไปแทน เช่น ไฟแช็กราคาถูก กระดาษทิชชู่เปียก เป็นต้น จากนั้น จึงแปะฉลากหน้าพัสดุเพื่อส่งลูกค้า โดยใช้ที่อยู่ผู้ส่งและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์กระจายสินค้าบริษัทขนส่งพัสดุนั้น เพื่อปกปิดตัวตน โดยมี น.ส.สุพิศตาฯ ผู้จัดการสาขาของบริษัทขนส่งพัสดุข้างต้นคอยให้ความร่วมมือ และทำหน้าที่คอยแก้ไขปัญหากรณีมีลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับพัสดุปลอม โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน จำนวนกล่องละ 2 บาท
จากนั้น เมื่อกล่องพัสดุส่งไปยังลูกค้าแล้ว หากมีลูกค้าหลงเชื่อจ่ายเงินปลายทาง เงินที่ได้จะเข้ายังบัญชีบริษัทขนส่งพัสดุ จากนั้น ผู้ต้องหาจะใช้บัญชีบริษัทโอนเงินให้แก่นายเอกฉันท์ฯ โดยผ่านบัญชีม้าที่ได้ว่าจ้าง น.ส.เจสิตาฯ เปิดให้ จากหลักฐานปัจจุบัน พบว่าบุคคลกลุ่มนี้ก่อเหตุมาตั้งแต่ต้นปี '66 ซึ่งมีรายได้รวมกันกว่า 15 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้ง 4 คน ฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และ ร่วมกันฟอกเงิน พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ขนส่งพัสดุ จำนวน 4 คัน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และปริ้นเตอร์ รถจักรยานยนต์วิบาก และ รถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ BMW S1000RR และกล่องพัสดุสินค้าอีกเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจาก ตำรวจไซเบอร์ บช.สอท.