ด่วน เศรษฐา งานเข้าแล้ว เรืองไกร ร้อง กมธ. สว. สอบ
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวภายหลังการเข้ายื่นหนังสือต่อ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โดยสืบเนื่องจากรัฐบาลใหม่ยังไม่มี เพราะต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งคนแรกคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เกิดปัญหาไม่ได้รับเสียงมากเพียงพอ
อีกทั้งที่ประชุมรัฐสภายังมีมติว่าเป็นญัตติเดิมที่ถูกตีตกหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งหากเสนอชื่อครั้งต่อไป คงจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีของ นายพิธา ไว้ และยังไม่มีคำสั่งใดออกมา จนทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป
ดังนั้น เมื่อเห็นวาระการประชุมของ สว. ที่มีวาระเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่เหมาะจะนำข้อมูลกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้กล่าวอ้าง นายเศรษฐา ว่าอาจมีลักษณะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) คือ นายกรัฐมนตรีมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ในกรณีการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งตามที่ปรากฏตามข่าว
นายเรืองไกร ระบุต่อไปว่า หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงคือ กมธ. แต่เนื่องจากในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มี จึงมายื่นต่อ กมธ.วุฒิสภา ให้ทำหน้าที่แทน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ต้องเสาะหาตามอำนาจของ กมธ. คือ หากว่าที่นายกรัฐมนตรี มีข้อกล่าวอ้างเช่นนี้ ควรจะตรวจสอบ ดังนี้
1. ขอเอกสารจาก นายชูวิทย์
2. ขอเอกสารจากบริษัท แสนสิริ ที่เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด
3. เชิญเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ที่รับจดนิติกรรม และเชิญเจ้ากรมสรรพากร มาให้ความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการวางแผนภาษี หลบเลี่ยงภาษี หรือเป็นการหนีภาษีหรือไม่
ขณะเดียวกัน ยังต้องเชิญทางผู้ขายด้วย ต้องฟังความให้ครบหมด และได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ในเวลาที่เหลืออีก 10 กว่าวัน
ทางด้าน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวหลังรับหนังสือจาก นายเรืองไกร ว่า กรณีนี้จะนำไปเสนอต่อ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ และ กมธ.คณะอื่นๆ ของ สว. รวมถึงที่ประชุมรัฐสภาต่อไป พร้อมย้ำว่า สว. มีหน้าที่โดยตรงที่จะใช้วิจารณญาณในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งในบรรทัดฐานของการทำหน้าที่คัดเลือกผู้นำองค์กรคนสำคัญ ทั้งศาลและองค์กรอิสระ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี เราคำนึงถึงจริยธรรม ความประพฤติ ความซื่อสัตย์สุจริต ประกอบกับคุณสมบัติต่างๆ ที่ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยจะรวบรวมข้อเท็จจริง และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป.