หมอพรทิพย์ ตอบแล้ว โหวตนายกฯรอบ 2 จะเห็นชอบเลือก พิธา มั๊ย หลังลูกสาวโพสต์ อายคน
วันที่ 16 กรกฎาคม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กรณีถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในการห้ามเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิปวุฒิสภาทั้งสิ้น ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น
เมื่อถามว่ากรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมให้พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา หากนายพิธาไม่ผ่านการโหวตในรอบที่ 2 ทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ ถ้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังจับมือกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปว่า ตนเป็นคนขอปิดสวิตช์ตัวเองตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็น 1 ใน 60 คน ที่มีการลงมติแล้ว ตนทำงานบนเหตุผลและหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่กลับไปกลับมา
ดังนั้นโดยหลักการไม่ว่าจะเสนอใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนไม่โหวต เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเป็นพรรคข้างมากที่พยายามจะจัดตั้งรัฐบาล โดยขอสมาชิกวุฒิสภาว่าเปิดสวิตช์ได้หรือไม่ จริงๆ ไม่ควรต้องมาขอ เพราะหลักกการคือปิดไปแล้ว ถ้าจะเปิดต้องไม่แตะมาตรา 112 ดังนั้นหากเป็นชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ตนก็ปิดสวิตช์ตามหลักการเดิม
เมื่อถามว่ากรณีที่พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะทำคู่ขนานไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี มองว่าจะได้เสียงสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า การเสนอแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นการเสนอตามสูตร จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็น 2 สภาร่วมกัน ซึ่งตนไม่ทราบจุดประสงค์ของพรรคก้าวไกล มองว่าบางทีการทำเช่นนี้เป็นเพียงการทำให้เกิดกระแสว่า ยังสู้อยู่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อต้องหาวิธีเอง และยืนยันในการโหวตปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนการเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 272 นั้นจะได้เสียงสนับสนุนหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้
เมื่อถามว่าโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม ยืนยันจะงดออกเสียงใช่หรือไม่ หมอพรทิพย์กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญคือ ตนยึดหลักการเดิมในการปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว