![ผู้เสียหายเปิดหมดเปลือก ตรวจรถทิพย์ขนส่งสกลนครไม่มีการตรวจสภาพจริง จยย.เรียกรับเงิน 300 ต่อคัน](data/news_data/picture_800/93468gw.jpg)
ผู้เสียหายเปิดหมดเปลือก ตรวจรถทิพย์ขนส่งสกลนครไม่มีการตรวจสภาพจริง จยย.เรียกรับเงิน 300 ต่อคัน
จากกรณี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแฉว่ามีสถานตรวจสภาพรถทิพย์ในจังหวัดสกลนคร จนเจ้าหน้าที่ขนส่งสกลนครร่ำรวยผิดปกติ ครอบครองเครื่องบินเล็กและรถหรู และต่อมา ป.ป.ช.จังหวัดสกลนครได้เข้าตรวจสอบที่ขนส่งจังหวัดสกลนคร และพบช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การกระทำผิด ในขณะที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่ขนส่งร่ำรวยตามกล่าวอ้าง และต่อมาอธิบดีกรมการขนส่งได้มีคำสั่งย้ายด่วน 5 นายช่างฝ่ายตรวจสภาพรถ รายละเอียดตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายวิชิต แก้วกัญญา อายุ 67 ปี ซึ่งเปิดตัวว่าเป็นผู้เสียหายจากกระบวนการตรวจรถทิพย์ได้ออกมาเปิดเผยพฤติกรรมและขั้นตอนวิธีการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสภาพรถ ในสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร ว่า ตนเองประกอบอาชีพเปิดร้านขายรถจักรยานยนต์มือสองมานานกว่า 20 ปีแล้ว พบเห็นการกระทำในลักษณะนี้ที่เรียกว่าตรวจรถทิพย์โดยเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
โดยวิธีการที่เป็นที่มาของคำว่าตรวจรถทิพย์ คือการที่เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถของสำนักงานขนส่งใช้คำเรียกว่าตรวจรถนอก ซึ่งหมายถึงการตรวจสภาพนอกสำนักงานขนส่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น หาได้มีการตรวจสภาพรถจริงๆแต่อย่างใด มีเพียงแค่การนำเอกสารของรถคือสมุดคู่มือเล่มทะเบียนและหมายเลขตัวถัง ส่งเข้าไปให้ฝ่ายตรวจสภาพรถเท่านั้น โดยผ่านตัวแทนที่ให้บริการรับส่งเอกสาร จากนั้นตัวแทนจะนำไปส่งให้กับหน้าม้าของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสภาพรถ ที่อยู่ภายในสถานตรวจสภาพรถ ดำเนินการในเรื่องของเอกสารแล้วส่งต่อให้ฝ่ายทะเบียนบันทึกข้อมูล เมื่อแล้วเสร็จก็จะให้ตัวแทนที่รับส่งเอกสาร นำส่งกลับคืนมาให้ตนเอง
โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเช่นนี้ที่เรียกกันว่าตรวจทิพย์นั้น เริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายให้กับตัวแทนที่วิ่งรับส่งเอกสารต่อรอบประมาณ 200-300 บาท ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพทิพย์ก็แล้วแต่ประเภทรถ ซึ่งของตนเป็นรถจักรยานยนต์ต้องจ่ายคันละ 300 บาท แยกเป็นของฝ่ายตรวจสภาพ 200 บาท และฝ่ายทะเบียนบันทึกข้อมูล 100 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ไม่ได้มีใบเสร็จใดๆ เรียกง่ายๆว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวกหรือค่าส่วยในการที่ไม่ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าตรวจทิพย์
ส่วนมูลเหตุของการออกมาเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้นั้น นายวิชิตกล่าวว่า ก็เห็นว่าเรื่องการทุจริตแบบนี้เป็นภัยของสังคม ซึ่งเมื่อก่อนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ดำเนินการเช่นนี้มาจนเคยชินและเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนกระทั่งมาทราบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ตอนที่ตนนำเอกสารรถจักรยานยนต์ในร้าน เข้าไปขอตรวจสภาพเองโดยไม่ได้ใช้บริการตัวแทน แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องนำรถมาตรวจด้วย เมื่อตนอ้างว่าทำไมตัวแทนถึงทำได้ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธว่าทำไม่ได้เพราะผิดระเบียบขั้นตอนข้อกฎหมาย ซึ่งพอทราบว่าที่ผ่านมาการตรวจสภาพรถทิพย์นั้นไม่ถูกต้อง ตนจึงอยากออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ จะได้ไม่มีภัยสังคมเช่นนี้อีกต่อไป โดยตนได้นำเรื่องนี้ยื่นต่อ ป.ป.ช.สกลนครแล้ว
ข่าวโดย สุริยา แก้วก่า ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จังหวัด สกลนคร