จับตาโควิดหลังสงกรานต์ XBB.1.16 กรมควบคุมโรค เผย ติดต่อได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ล่าสุดไทยพบแล้ว 8 ราย

จับตาโควิดหลังสงกรานต์ XBB.1.16 กรมควบคุมโรค เผย ติดต่อได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ล่าสุดไทยพบแล้ว 8 ราย

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำสัปดาห์ที่ 15 ปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และร้อยละ 36 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2566) ก่อนที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ จะอัปเดตข้อมูลล่าสุดว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้ว 8 ราย

ด้าน นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 6 คน เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อาการป่วยไม่รุนแรง ส่วนอาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่ประเทศอินเดียรายงานว่าเยื่อบุตาอักเสบ ก็ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย แต่อาการโควิดจะมีอาการตัวร้อนเป็นไข้บางราย และจะมีอาการระคายเคืองตาได้ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า สายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการกลายพันธุ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้มารับวัคซีนหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน พร้อมขอให้สังเกตอาการตัวเองหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 7 วัน และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้สูงอายุและผู้เป็นโรคเรื้อรัง

ขณะที่เมื่อวานนี้ (16 เม.ย. 66) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "Center for Medical Genomics" เปิดเผยว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่พบในประเทศไทย ระหว่าง 1 ก.พ.-16 เมษ. 2566 หน่วยงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชนได้ช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 และอัปโหลดแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” จำนวนทั้งสิ้น 410 ตัวอย่างในช่วง 2 เดือนครึ่ง (1 ก.พ.-16 เมษ. 2566) ที่ผ่านมา โดยมีโอมิครอน 12 สายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทยเรียงตามลำดับมีดังนี้

BN.1.3 68 ราย (22%)

BN.1.2 59 ราย (19%)

XBB.1.5 45 ราย (15%)

XBB.1.9.2 22 ราย (7%)

XBB.1.9.1 20 ราย (7%)

BN.1.2.3 19 ราย (6%)

CH.1.1 18 ราย (6%)

BN.1.3.6 17 ราย (6%)

BN.1.1 12 ราย (4%)

EJ.2 9 ราย (3%)

XBB.1.16 8 ราย (3%)

BA.2.75 8 ราย (3%)

โดยพบโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 8 ราย และ 1 ใน 8 พบว่ามีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมเป็น XBB.1.16.1 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่าโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BN.1.3 ประมาณ 148% และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 90% คาดว่าจะเข้ามาแทนที่ BN1.3 และ XBB.1.5 ได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ