วิกฤตหนัก 39 จังหวัดฝุ่นถล่มหนักเกินค่ามาตรฐาน เชียงรายหนักสุด
วันที่ 7 เมษายน 2566 ค่าฝุ่น PM2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ รวม 39 จังหวัด เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน เช็คฝุ่น แบบรายชั่วโมง วันนี้ เมื่อเวลา 15:00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 อยู่ในระดับแดงและสีส้ม ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพไปจนถึงมีและต่อสุขภาพแล้ว
โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายพุ่งไปถึง 438 ไมโครกรัม ตามด้วยเชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เลย แพร่ อุตรดิตถ์ เป็นต้น เตือนประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่ทุกเขตของกรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่นฯ รายชั่วโมงในระดับดี
โดยในสภาพของตัวเมือง เชียงราย ยังคงถูกปกคลุมอย่างหนาแน่นจากหมอกควัน ทำให้ตลอดทั้งวันมีหมอกควันปกคลุมท้องฟ้ามีสภาพฟ้าหลัว ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลงเหลือเพียง 1 กิโลเมตร ถึงแม้ว่าเมื่อวานที่ผ่านมาจะมีลมพัดมาเป็นระยะก็ตามแต่กลับพบว่าค่าฝุ่นควันก็กลับมาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
และต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น. กรมควบคุมมลพิษได้รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 พบว่า จุดตรวจวัดพื้นที่ อ.แม่สาย ยังปริมาณฝุ่นละอองสูงสุดที่ 342 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย วัดได้ 237 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐานมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ประชาชนควรเลี่ยงออกมาในที่โล่งโดยไม่จำเป็น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
ส่วนปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่สามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่