ประกาศภัยพิบัติ น้ำท่วมรวม 20 อำเภอ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รายงานลักษณะอากาศประจำวัน ว่า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งที่จังหวัดนครราชสีมา จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2565 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาจึงเน้นย้ำประชาชนให้ระวังอันตรายจากลมประโชกแรง ฝนตกหนัก และตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ช่วงตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยอุทกภัยแล้วรวม 20 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่ พิมาย โนนแดง หนองบุญมาก สีดา ห้วยแถลง บัวลาย ชุมพวง จักราช โชคชัย ขามทะเลสอ ครบุรี ประทาย เมืองยาง สีคิ้ว สูงเนิน ปักธงชัย เมืองนครราชสีมา บ้านเหลื่อม และอำเภอโนนสูง รวม 80 ตำบล 5 ชุมชน 399 หมู่บ้าน มีผู้ประสบภัย 8,617 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย เป็นพืชไร่ 7,648 ไร่, นาข้าว 55,324 ไร่, พืชผัก 1,311 ไร่, บ่อปลา 79 บ่อ และมีถนน 21 สาย, ฝาย 3 แห่ง, บล็อกคอนเวิร์ส อีก 2 แห่งได้รับความเสียหาย
ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ ได้มีโทรสารด่วนที่สุดถึงนายอำเภอเมืองนครราชสีมา โนนไทย โนนสูง ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว และนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังในพื้นที่
รวมทั้งจัดเตรียมจุดอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยให้มีความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ติดลุ่มน้ำชีในอำเภอบ้านเหลื่อมกับอำเภอแก้งสนามนาง และพื้นที่ติดลุ่มน้ำมูล ในอำเภอพิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมือง อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อล้นตลิ่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้ขอให้แต่ละพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วง 24 ชั่วโมง และจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ รวมทั้งให้ตรวจสอบ-ซ่อมแซมแนวคันดิน หรือคันกั้นน้ำ เร่งกำจัดส่งกีดขวางทางน้ำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ และบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ กับเร่งระบายน้ำในลำน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ให้สามารถลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำมูลบน อำเภอครบุรี และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกักล่าสุดรวม 4 อ่างเฉลี่ยอยู่ที่ 658.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 74.36% สามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก
โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ขณะนี้มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกักอยู่ที่ 239.86 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 76.27% เป็นน้ำใช้การได้ 217.14 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 74.42% มีน้ำไหลลงอ่างฯ เมื่อวานนี้ประมาณ 1.40 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทางอ่างฯ ได้พร่องน้ำโดยระบายน้ำออก 1.21 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเปิดพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลมาลงอ่างฯ เพิ่มเติม