เปิดผลสอบคานสะพานกลับรถพระราม 2 ถล่ม

เปิดผลสอบคานสะพานกลับรถพระราม 2 ถล่ม

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถโครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก-นาโคก ตอน 2 จังหวัดสมุทรสาคร พังถล่ม ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ รักษาการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายดำเนินงาน นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) นายอภิชัย วชิระปราการพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท นายเอนก ศิริพานิชกร นายสุกิจ ยินดีสุข และนายอรรถสิทธิ์ ศิริสนธิ ผู้แทนจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และนายพานิช วุฒิพฤกษ์ ผู้แทนจากสภาวิศวกร เข้าร่วมประชุม

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน กล่าวว่า จากรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถถนนพระราม 2 พังถล่ม โดย นายเอนก ศิริพานิชกร ผู้แทน วสท. และประธานอนุกรรมการคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสืบหาสาเหตุการเกิดอุบั ติเหตุ

รายงานสรุปผลการสำรวจทางวิศวกรรมกับโครงสร้างสะพาน ณ ปัจจุบัน ที่ได้รับความเสียหายด้วยระบบ Visual Inspection และ 3D Laser Scan พบว่าสภาพของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายได้ถูกรื้อถอนออกหมดแล้ว โครงสร้างส่วนอื่นที่เหลือยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ต้องมีการสำรวจความแข็งแรงของโครงสร้างในเชิงลึกด้วยวิธีอื่นประกอบ เพื่อความปลอดภัยของการติดตั้งโครงสร้างใหม่โดยเฉพาะ โครงสร้างจุดต่อรับคาน Girder

ฝ่ายเลขานุการรายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ทล. ซึ่งมีวิศวกรใหญ่ด้านควบคุมการก่อสร้างเป็นประธาน ได้เรียกสอบผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในโครงการแล้ว รวมถึงลงพื้นที่สำรวจ และเก็บข้อมูลหลังเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบพบว่าคานที่เกิดอุบัติเหตุไม่พบจุดยึดรั้งระหว่างคาน (I-Girder) และคานขวาง (Diaphragm) ซึ่งตามรูปแบบการก่อสร้างจะประกอบด้วย เหล็กเสริมด้านบนและด้านล่างตลอดแนวยาวของคานขวาง และจากการตรวจสอบลักษณะความเสียหายบริเวณรอยต่อของโครงสร้างคานที่เกิดอุบั ติเหตุคณะกรรมการได้มีข้อสังเกต ดังนี้ 1. สาเหตุของการร่วงหล่นคาดว่า เกิดจากการสูญเสียเหล็กเสริมในโครงสร้างคานขวางระหว่างการรื้อถอนพื้นสะพานเพื่อซ่อมแซมพื้นสะพานแบบ Full Depth ส่งผลให้เกิดแรงบิดในโครงสร้างของคานตัวริม เนื่องจากน้ำหนักเยื้องศูนย์อาจทำให้โครงสร้างสูญเสียเสถียรภาพและหลุดออกจากจุดรองรับ และ 2. ลักษณะของการเกิดเหตุคาดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมันบนสะพานเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2547

สำหรับแผนการปรับปรุงสะพานกลับรถในเบื้องต้น ฝ่าย ทล.จะทำการออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมร่วมกันวางแผนการก่อสร้าง และแผนการจัดการจราจร เป็นต้น ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 คาดว่าจะดำเนินการหล่อคานสำเร็จรูป ติดตั้ง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนเปิดการจราจรบนสะพานกลับรถ ทล.จะทำการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานตามหลักวิศวกรรมร่วมกับ วสท. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสะพานกลับรถดังกล่าวมีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม

ส่วนกรณีมีข้อร้องเรียนของประชาชนเรื่องจุดกลับรถในบริเวณดังกล่าว มีระยะทางไกลและก่อให้เกิดความไม่สะดวกนั้น นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง แจ้งว่า ทล.อยู่ระหว่างการพิจารณาจุดกลับรถชั่วคราวใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยผลการพิจารณาจะแจ้งกระทรวงฯ ทราบต่อไป ทั้งนี้ ในการคัดเลือกจุดกลับรถใหม่หรือการดำเนินงานเพื่อบูรณะสะพานดังกล่าว รองปลัดกระทรวงคมนาคมได้กำชับให้ ทล.ดำเนินการตามหลักการทางวิศวกรรมด้วยความปลอดภัย และมีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้เร่งจัดทำข้อสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงพร้อมรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดเพื่อรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบโดยเร็วที่สุด รวมถึงการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเยียวย าต่างๆ ขอให้ ทล.ดำเนินการตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำแผนการดำเนินงานปรับปรุงสะพานกลับรถดังกล่าว โดยแยกเป็นกิจกรรมต่างๆ (Action Plan) ตามช่วงเวลาที่จะดำเนินการให้ละเอียด เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบต่อไป

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ