เปิดประวัติ พรีมายา พบเคยโดนจับใส่สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ เจ้าตัวรีบแจง
กรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. เพื่อกล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับบริษัทแห่งหนึ่ง (Primaya) และบุคคลอื่นๆ ซึ่งใช้ข้อความอันเป็นเท็จ อ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท รวมถึงระบุด้วยว่า บริษัทดังกล่าวเคยถูกตำรวจบก.ปคบ.จับกุมคดีกรณีขายยาลดน้ำหนักที่ใส่สารต้องห้ามมาแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายของพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ได้เน้นให้เข้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพ ที่ส่งผลกระทบต่ออันตรายของพี่น้องประชาชน ซึ่งกรณีดังกล่าวว่า เป็นการตรวจสอบตามปกติ ที่พบผลิตภัณฑ์ ทางออนไลน์ ทาง บก.ปคบ. ก็จะล่อซื้อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาตรวจสอบอยู่แล้ว
พ.ต.อ.เนติ กล่าวต่อว่า ส่วนผลิตภัณฑ์ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้ล่อซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทพรีมายาผ่านทางเฟซบุ๊ก ก่อนนำมาตรวจสอบ เบื้องต้นพบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดตรวจ ก็พบมีสารต้องห้าม จึงขอหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทฯที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจยึดผลิตภัณฑ์ นำส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ภายหลังได้รับผลตรวจว่า มีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานขออนุมัติศาลจ.สมุทรปราการ เพื่อออกหมายจับกรรมการของบริษัท 2 ราย คือ น.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ (เมย์) หมายจับที่ 290/2565 ลงวันที่ 30 พ.ค. 65 นายสิทธานต์ สรรเสริญ (แซค) หมายจับที่ 291/2565 ลง 30 พ.ค. ข้อหา ร่วมกันจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังขอหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านพักของกรรมการบริษัท และบริษัทที่ จ.สมุทรปราการ ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมาด้วย
โดยมีการจับกุมกรรมการทั้ง 2 คนได้ที่บ้านพักอึกด้วย สอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสอง ให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม อ้างว่า เป็นการว่าจ้างโรงงานแห่งหนึ่งทำการผลิต นอกจากนี้ยังร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นบริษัทของผู้ต้องหาอีกเป็นครั้งที่ 2 ด้วย
พ.ต.อ.เนติ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวครั้งนี้ ไม่พบมีส่วนผสมของสารไซบูทรามีนแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงเข้าตรวจค้นโรงงานผู้รับผลิต จำนวน 2 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อตรวจยึดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ปัจจุบันบริษัทพรีม่าไม่ได้ว่าจ้างให้โรงงานดังกล่าวทำการผลิตให้แล้ว ส่วนเรื่องคดีความนั้น ก็อยู่ในขั้นตอนคอความเห็นทางคดี