ปภ.แจ้งเตือน 38 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เวลา 20.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง
ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน กอปภ.ก จึงได้แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 2 - 10 สิงหาคม 2565 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง ได้แก่
ภาคเหนือ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) แม่ฮ่องสอน (อำเภอปาย) เชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว แม่อาย) เชียงราย (อำเภอเมืองฯ แม่จัน แม่ลาว) น่าน (อำเภอบ่อเกลือ ปัว สันติสุข) อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา ทองแสนขัน) พิษณุโลก (อำเภอนครไทย วัดโบสถ์ เนินมะปราง ชาติตระการ) และเพชรบูรณ์ (อำเภอวังโป่ง หล่มสัก หล่มเก่า)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคาน นาด้วง) หนองคาย (อำเภอโพนพิสัย รัตนวาปี) สกลนคร (อำเภอบ้านม่วง) บึงกาฬ (อำเภอเมืองฯ บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา) มุกดาหาร (อำเภอดงหลวง) นครพนม (อำเภอท่าอุเทน เมืองฯ ธาตุพนม) ชัยภูมิ (อำเภอบ้านเขว้า หนองบัวแดง) ขอนแก่น (อำเภอเมืองฯ) ร้อยเอ็ด (อำเภอสุวรรณภูมิ) ยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว) นครราชสีมา (อำเภอจักราช พิมาย ลำทะเมนชัย) และอุบลราชธานี (อำเภอม่วงสามสิบ ตระการพืชผล ดอนมดแดง เขื่องใน เมืองฯ วารินชำราบ)
ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ) ลพบุรี (อำเภอชัยบาดาล) ปทุมธานี (อำเภอธัญบุรี ลำลูกกา) นนทบุรี (อำเภอเมืองฯ ปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อำเภอเมืองฯ บางพลี บางบ่อ) นครนายก (อำเภอเมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม กบินทร์บุรี) ระยอง (อำเภอแกลง เมืองฯ) จันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ แหลมสิงห์ เมืองฯ ขลุง มะขาม) ตราด (อำเภอเมืองฯ คลองใหญ่ แหลมงอบ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง) และประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน ทับสะแก)
ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว) สุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน ไชยา) นครศรีธรรมราช (อำเภอพรหมคีรี) พัทลุง (อำเภอกงหรา) ระนอง (อำเภอกะเปอร์) พังงา (อำเภอตะกั่วทุ่ง) และตรัง (อำเภอย่านตาขาว)
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ได้แก่
บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล เชียงใหม่
- อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา ลำปาง
- อ่างเก็บน้ำน้ำพุง สกลนคร
- อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ขอนแก่น
- อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ลพบุรี
รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ น้ำหลากและท่วมฉับพลัน
โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ห้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด