ทางหลวงพูดแล้ว เส้นจราจรซิกแซกแปลกใหม่ ลั่นกำลังทดลองอยู่
วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ตามที่ กรมทางหลวง โดยแขวงการทางศรีสะเกษที่ 2 ได้มีการออกแบบ และจัดการตีเส้นการจราจรบนถนนสายขุนหาญ-บักดอง–สำโรงเกียรติ ตรงบริเวณสี่แยกบ้านหลักหิน หน้าสถานี รพ.สต.หลักหิน ตำบลบักดอง ความยาว 83 เมตร ได้สร้างความงุนงงให้กับชาวบ้าน รวมทั้งผู้ที่ขับยวนยานพาหนะผ่านไปมาเป็นอันมาก กับเส้นจราจรแบบฟันปลา สลับไปมา
หรือเรียกว่าแบบซิกแซก โดยชาวบ้านไม่เคยพบเจอแบบนี้มาก่อน ต่างก็ได้กล่าวขาน เล่าบอก สอบถามกันต่อๆ กันไปว่า ทำเพื่อความสนุก หรือต้องการให้แปลกตา สร้างแลนมาร์คแบบใหม่ ทำไมชาวบ้านในไม่ทราบเรื่องว่าทำอะไร เพื่ออะไร ที่สำคัญตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเจอการตีเส้นการจราจรแบบมาก่อน หรือแม้กระทั่งช่างคนงาน ที่มารับจ้างตีเส้นการจราจรตามแบบ ก็งงว่าทำไมต้องทำแบบนี้ และทำเป็นแห่งแรก แห่งนี้จุดเดียว ทั้งจังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นโครงการนำร่อง
วันนี้ นายรพี ตั้งทรงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 2 ได้ชี้แจงผ่านอุปกรณ์เครื่องฉายภาพขึ้นจอทีวีขนาดใหญ่ ให้ได้ทราบว่า ในการกระทำเช่นนี้ ตนได้ร่วมกันนายช่างออกแบบ เพื่อให้มีการตีเส้นการจราจรเป็นแบบซิกแซก โดยในจุดนี้เป็นจุดแรกของการเริ่มดำเนินการ เพื่อทำการทดลอง เพื่อที่จะได้เก็บตัวเลข สถิติในการลด หรือเพิ่ม ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการศึกษาการออกแบบ รูปแบบ วิธีการของการลดการเกิดอุบัติเหตุในต่างประเทศ ซึ่งปัญหาก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก มีรถ มีถนน มีคนขับรถ และมีคนเดินเท้า ที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ แล้วเกิดความเสียหาย แต่การแก้ปัญหาไม่สามารถที่จะไปแก้ หรือไปลดปัจจัยต่างๆ ได้พร้อมๆ กันในทุกหัวข้อ นอกจากจะหาทาง หาวิธีการที่เหมาะสำหรับพื้นที่นั้นๆ
ครั้งนี้ตนจึงตัดสินใจที่จะลดความเร็วของรถทุกคันที่ขับผ่านจุดนี้ หมู่บ้านหลักหิน ที่มีการทำถนนใหม่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงได้ออกแบบตีเส้นการจราจรแบบซิกแซก เพื่อบีบให้ถนนแคบลง รถจะได้ชะลอความเร็วลง เส้นที่ตีแบบซิกแซก ก็จะสร้างความตกใจกับผู้ขับรถ จะได้ลดความเร็วลง ซึ่งหากจังหวะนั้น อาจจะมีคนกำลังจะเดินทางข้ามถนน รถก็จะได้เบรกได้ทัน หากรถได้วิ่งช้าลง
โดยวันนี้ยอมรับว่า ยังเป็นการเริ่มในการทดลองตีเส้นการจราจรแบบใหม่ แบบซิกแซก เพื่อเก็บสถิติ หาข้อมูล เพื่อประชาชน เพื่อผู้ที่ขับรถทุกคันบนถนนหลวง ในการทดลองตีเส้นแบบนี้ จุดแรกที่จังหวัดศรีสะเกษ จุดที่สองจะไปทำที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำสถิติมาเทียบ หาข้อดี ข้อด้อย ก่อนสรุปนำเสนออธิบดีตัดสินใจต่อไป แต่ก็ยอมรับว่า ในการดำเนินการดังกล่าว ยังไม่ได้ทำการสรุปเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ ว่าการตีเส้นการจราจรแบบนี้ เพื่ออะไร จะช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไร ลดได้จริงไหม เพราะตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลอง และศึกษา เก็บตัวอย่าง แต่ต่างประเทศ สามารถใช้การได้ผลดีมากมาหลายประเทศแล้ว เพราะประชาชนเข้าใจ พอขับรถมาพบเส้นซิกแซก ก็จะลดความเร็วของรถลง เข้าใจได้ว่าเป็นเขตที่ต้องระวังนั้นเอง ผอ.กล่าว