ศิษย์สายตรงเตือน หลวงพี่แจ้ อย่าอ้างหลวงพ่อกวย ห้ามละเมิดลิขสิทธิ์วัตถุมงคล
กลายเป็นประเด็นสนั่นโซเชียล หลังวัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท ออกประกาศ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปภาพและวัตถุมงคล หลวงพ่อกวย ชุตินธโร พระเกจิดัง และเป็นอดีตเจ้าอาวาส ได้มีการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ หลวงพี่แจ้ หรือ พระตะวัน อิทฺธิโชโต พระลูกวัดน้อมประชาสรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งโด่งดังเป็นกระแสโซเชียล จากการรดน้ำมนต์ ทำให้มีประชาชนศรัทธาไปทำพิธีจำนวนมาก
ลิขสิทธิ์รูปถ่าย-ยันต์หลวงพ่อกวย ไม่อนุญาตให้วัดใด ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก วัดโฆสิตาราม หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร อย่างเป็นทางการ ระบุข้อมูลแถลงการณ์ของ พระครูโฆสิตพัฒนคุณ รองเจ้าคณะอำเภอสรรค์บุรี เจ้าอาวาสวัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท ว่า ประกาศแจ้งจากทางวัดโฆสิตาราม (หลวงพ่อกวย ชุตินธโร) เรื่อง วัตถุมงคล รูปถ่าย หลวงพ่อกวย ชุตินธโร ตามที่วัดน้อมประชาสรรค์ จัดสร้างและจำหน่าย โดยทางวัดโฆสิตารามไม่ได้อนุญาต และทางวัดโฆสิตาราม ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลใดๆ หรือกิจกรรมใดๆ ของวัดน้อมประชาสรรค์ ทางวัดโฆสิตาราม ขอแจ้งให้ศิษย์ทราบ โดยทั่วกันว่า ทางวัดโฆสิตาราม ไม่มีการทำพิธี การอาบน้ำมนต์ หรือพิธีการสักยันต์ใดๆ ทั้งสิ้น จึงแจ้งมาให้ศิษยานุศิษย์ของ หลวงพ่อกวย ชุตินธโร ทราบโดยทั่วกัน
ทีมข่าวของไทยรัฐได้ สอบถามข้อเท็จจริงจาก วัดโฆสิตาราม ได้รับการยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง ที่ผ่านมามีลูกศิษย์ โทรมาสอบถาม ถึงความเกี่ยวข้อง และพิธีกรรมการรดน้ำมนต์ ของวัดน้อมประชาสรรค์ จำนวนมาก ซึ่งทางวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพิธีกรรมสักยันต์ มีการอ้างว่า หลวงพี่แจ้ เป็นศิษย์ของ ปู่ทรง รอดเล็ก ที่เคยเป็นอาจารย์สักยันต์ อยู่ที่วัดโฆสิตาราม สมัยหลวงพ่อกวย ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในการสักยันต์ทุกครั้ง หลวงพ่อกวย จะเป็นผู้ปลุกเสกในพิธีกรรมขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้นวิชาอาคม ย่อมมีความแตกต่างกัน การนำชื่อหลวงพ่อกวยไปอ้าง ทางวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากเกิดความเสียหายในทุกกรณี ส่วนกรณีลิขสิทธิ์รูปหลวงพ่อกวย และยันต์ตุ๊กตา วัดโฆสิตาราม ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ถูกต้อง และไม่อนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ผ่านมาได้ออกประกาศ เพื่อให้ผู้กระทำผิดหยุดการกระทำ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ทางวัดจะมอบหมายให้ทนายดำเนินคดี
ร้องเรียนลิขสิทธิ์พระเกจิ ใช้เวลานานสืบหาหลักฐาน สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ เกี่ยวกับพระเครื่องและรูปถ่ายพระเกจิ ทีมข่าว สอบถามไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า รูปถ่ายหรือยันต์ แม้มีการจดลิขสิทธิ์ แต่ต้องส่งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิจารณาสืบหาต้นฉบับภาพ เพราะภาพถ่ายพระเกจิ มีการถ่ายไว้ระยะเวลานาน ถ้าผู้ร้องเรียนยืนยันได้ว่า ต้นฉบับภาพถ่ายเป็นของตน ศาลถึงจะตัดสินให้ชนะคดี ซึ่งคดีลักษณะนี้ ใช้เวลาสืบหาพยานหลักฐานค่อนข้างนาน
ทำให้ศาลมีกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณี เพื่อให้คดียุติเร็วขึ้น ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ถ้ามีการสืบพยานพบว่า มีการกระทำผิดจริง จะมีโทษปรับ 10,000-200,000 บาท แต่ถ้ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อการค้า จะมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม การละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับวัตถุมงคล มีหลายกรณีเป็นกระแสร้องเรียน ก่อนหน้านี้ เช่น จตุคามรามเทพ และรูปปั้นไอ้ไข่
ขอบคุณ ข้อมูลจากไทยรัฐ