สง่างาม พระราชินี ฉลองพระองค์ชุดสีฟ้า
30 พ.ค.2565 - เวลา 19.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปยังห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจ และวิชาชีพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ สสธวท พร้อมคณะกรรมการ ในฐานะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในโอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยบริเวณ Foyer ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับผ้าไทย ส่วนที่ 2 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ สสธวท และองค์กรสมาชิกของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งมีองค์กรสมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศ 22 จังหวัด และการดำเนินงานและผลงานที่โดดเด่น ส่วนที่ 3 ภาพ 90 ต้นแบบผ้าไทยพร้อมข้อคิดและแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วม ส่งเสริม สนับสนุนผ้าไทย
ทั้งนี้ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานกาล่าดินเนอร์ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12สิงหาคม 2565 ขึ้นภายใต้แนวคิด ไทยนิยม เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนําเสนออัตลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาของไทย รวมทั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความภาคภูมิในอัตลักษณ์และการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการจัดงานฯ และผู้เป็นต้นแบบสนับสนุนการใช้ผ้าไทย ๙๐ ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และส่งเสริมบุคคลให้เป็นผู้สืบสานภารกิจด้านผ้าไทยให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของผ้าไทยที่งดงาม ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยสืบไป โดยได้กำหนดแนวทางให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ 9 ประเภท ดังนี้ นฤมิตภูษาสง่าศิลป์ ต้นแบบแห่งการถักทอผ้าไทย จินตภูษาสง่าศิลปีต้นแบบแห่งการออกแบบลวดลายผ้าไทย เชิดชูภูษาสง่าศิลป์ ต้นแบบแห่ง การเชิดชู สนับสนุนและต่อยอดผ้าไทย วิวัฒน์ภูษาสง่าศิลป์ ต้นแบบแห่งการพัฒนาผ้าไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี, บูรณาภูษาสง่าศิลป์ต้นแบบแห่งการดีไซน์ผ้าไทย (ดีไซเนอร์) เอกวลัญชน์ภูษาสง่าศิลป์ต้นแบบผู้นำในการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย, สสธวท สานธำรงภูษาสง่าศิลป์.ต้นแบบสมาชิก สสธวท ผู้สืบสานการสวมใส่ผ้าไทย สตรีรักษ์ภูษาสง่าศิลปี ต้นแบบสตรีแห่งความภาคภูมิในผ้าไทย และบุรุษรักษ์ภูษาสง่าศิลป์ต้นแบบบุรุษแห่งความภาคภูมิใจในผ้าไทย
จากนั้น ทอดพระเนตรการถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคณะกรรมการและการแสดงชุด สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ ประกอบด้วย วีดิทัศน์ ชุด ๙๐ ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ และ การแสดงแบบเสื้อชุดผ้าไทย สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ ผ้าไทยร่วมสมัย ไทยนิยม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย
ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และคงไว้ซึ่งเสน่ห์ความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม สร้างความนิยมและความภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทยได้จริงในชีวิตประจำวัน และสร้างให้เกิดกระแสนิยมในการแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและเผยแพร่สู่สากล โดยผ่านเครือข่ายองค์กรสมาชิกนานาประเทศ การแสดงแบบเสื้อครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เป็นต้นแบบผ้าไทยกิตติมศักดิ์จากแวดวงต่างเป็นผู้แสดงแบบเสื้อกว่า 70 คน จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ด้าน นางดาวเรือง ยอดสิมมา ประธานกลุ่มโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อําเภอบุณฑริก จ.อุบลราชธานี 1 ใน 90 บุคคลต้นแบบ กล่าวว่า ผ้าไหมไทยคือชีวิตของตัวเอง ก่อนหน้านี้เป็นเพียงเกษตรกรจนๆ คนหนึ่ง ปลูกหม่อมเลี้ยงไหมในครัวเรือนเอาไว้สำหรับทอผ้าสวมใส่ในชีวิตประจำวันเอง จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อผ้าที่เราทอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การทอผ้ามีจำนวนมากขึ้น ต่อมาปี 2531 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ในขณะนั้น) เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่บ้านขอนแป้น ตนเองและชาวบ้านมีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จ ในครั้งนั้นพระองค์ท่านทรงรับพวกเราเข้าเป็นสมาชิกในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อส่งผ้าทอเข้าไปวางขาย ขณะเดียวกันทรงให้แนวทางแก่ชาวบ้านในการออกแบบลวดลายและการทอ ยิ่งช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในที่สุดรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่ม เศรษฐกิจชุมชนมั่นคงขึ้นแล้ว ด้านสังคมครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำที่อื่น
ขอเป็นอีกเรี่ยวแรงสืบสานผ้าไหมไทยไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ปัจจุบันเปิดบ้านเป็นพื้นที่สำหรับฝึกอบรมให้แก่เด็กๆ ทั้งการเลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้าไหมเน้นให้ลงมือทำเอง ออกแบลวดลายใหม่ๆ เพื่อหามูลค่าเพิ่มของผ้า ที่สำคัญให้พวกเขาภูมิใจในผลงานตัวเอง นางดาวเรือง กล่าว
ด้าน อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าโกมล บุคคลต้นแบบ เผยด้วยความปลื้มปีติว่า จากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ได้มีโอกาสสร้างผลงานระดับชาติและนานาชาติ โดยการส่งผ้าประกวดและได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับอาเซียนและระดับประเทศ จนกระทั่งได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โกมลผ้าโบราณและร้านค้าจำหน่ายผ้าไทย ทำให้เกิดรายได้ กับกลุ่มทอผ้าในชุมชน และ การท่องเที่ยวในชุมชน จนกระทั่งได้รับรางวัล 1 ใน 10 ท่อง เที่ยวต้นแบบ ชุมชนยลวิถีของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2564
เสน่ห์ของผ้าไทยนอกจากเทคนิคการทอที่ซับซ้อน ลวดลายที่ แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอดถึงการใช้เส้นใย ไหม ฝ้าย ผสมผสานกับ เส้นโลหะไหมเงินและไหมทอง ที่ช่างทอผ้าได้สร้างสรรค์ขึ้นมาล้วนทรงคุณค่าแสดงถึงภูมิปัญญาของเหล่าบรรพชนชาวไทย นอกเหนือจากความสวยสง่า และความภูมิใจของผู้สวมใส่แล้วยังได้ แสดงความเป็นตัวตนของคนไทยได้อย่างชัดเจน อยากเชิญชวนใช้ผ้าไทยในรูปแบบของตนเอง อาจารย์โกมล กล่าว