มติเอกฉันท์ เนตร นาคสุข ให้ออกจากราชการ ปมสั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีรายงาน การประชุมพิจารณาการลงมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด โดยมี นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (กอ.) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ปลดออกจากราชการ แต่เห็นว่าทำงานมานานจึงมติให้ออกจากราชการ
โดยที่ประชุมพิจารณาการลงมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา โดยมีรายงานว่า คณะกรรมการ กอ. มีมติลงโทษปลดออกจากราชการ แต่เห็นว่าทำงานมานานจึงมติให้ออกจากราชการ มีผลตั้งแต่วันที่ยื่นใบลาออก
ทั้งนี้ กอ. 15 คน สามารถออกเสียงลงมติได้ 8 คน เนื่องจากอีก 6 คน เคยเป็นกรรมการสอบสวนนายเนตร
โดยก่อนหน้านี้ 21 ก.ย.2564 ผลการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) พิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีไม่สั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ กรรมการอัยการ (ก.อ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่า นายเนตร มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เพราะไม่พบการทุจริต แต่เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
แต่จากการประชุมครั้งนั้น คณะกรรมการ ก.อ. เสียงส่วนใหญ่ จำนวน 9 ต่อ 2 เสียง เห็นควรสอบวินัยร้ายแรง นายเนตร ไม่สั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา เนื่องจากขาดความรอบคอบ ประมาทเลินเล่ออย่างค่อนข้างร้ายแรง ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป โดยความผิดวินัยร้ายแรงมีโทษสูงสุดทางราชการคือการไล่ออก หากผู้เสียหายไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้
สำหรับกรรมการกอ. 2 คน ที่งดออกเสียงคือ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด กับนายไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด ที่ประชุม ก.อ.ยังได้ตั้งนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อดีตอธิบดีสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และหลังจากนี้นายธนพิชญ์จะเป็นฝ่ายหากรรมการฯอีก 2 คน และเลขานุการฯอีก1คน
นายพชร กล่าวว่า วันนี้ถือว่าได้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายเนตร ไม่สั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา จะมีระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น 60 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีก 2-3ครั้ง จะสอบในประเด็นการสั่งคดีที่ก่อนให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ส่วนประเด็นที่นายเนตรจะยื่นหนังสือลาออกอีกครั้งที่2นั้น เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดพิจารณา