หนุ่มจีนรีวิวการเรียนภาษาไทย
กำลังเป็นกระแสไวรัลแรงมากทั้งเอ็นดูและฮาแตกในโลกออนไลน์ขณะนี้ กรณีผู้ใช้ ทวิตเตอร์ @izhoukeyuyou ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอส่วนหนึ่งจากเจ้าของแอคเคานต์ที่ใช้ชื่อว่า achida โดยที่หนุ่มจีนคนนี้ ได้รีวิวการเรียนภาษาไทย ที่เจ้าตัวถึงกับเอ่ยปากเลยว่า ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่ง่ายเลย เริ่มต้นว่ายากแล้ว และยิ่งเรียนก็ยิ่งยาก ไม่ใช่ว่าจะเรียนไปเรื่อย ๆ แล้วจะง่าย
หนุ่มจีนคนนี้บอกว่า ภาษาไทยกับภาษาจีนจะคล้ายกันตรงที่ มีสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ซึ่งจีนเรียกว่าเป็นตัวอักษรพินอิน แล้วการจะสร้างคำก็แค่นำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์มาผสมกัน ซึ่งหนุ่มจีนคนนี้ก็บอกว่า ฟังดูแล้วเหมือนง่าย....ง่ายอะไรล่ะ
ทั้งนี้ ในภาษาจีนพินอิน พยัญชนะกับสระในพินอินจะมีแค่ 47 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ภาษาไทย แค่พยัญชนะอย่างเดียวก็มีถึง 44 ตัว สระอีก 32 ตัว และเสียงวรรณยุกต์อีก 5 เสียง และเสียงพยัญชนะยังแยกเป็นเสียงต่ำ กลาง สูงอีก วรรณยุกต์เดียวกัน บางคำก็ออกเสียงต่างกันอีก
เช่นในภาษาไทยจะมีการแยกว่า ในคำ ๆ หนึ่ง ตัวไหนต้องออกเสียง ตัวไหนไม่ออกเสียง (เช่น จักร ไม่ออกเสียง ร) สระเสียงสั้น (อะ-อา) สระเสียงยาว (อิ-อี) โดยที่คำเหล่านี้ไม่มีในภาษาจีนเลย และการออกเสียง ในภาษาไทยหากออกเสียงผิด ความหมายก็จะผิดไปเลย
ก่อนจะยกตัวอย่างเช่น คำว่า จิบ (เสียงสั้น) กับ จีบ (เสียงยาว) คำว่าจิบเช่น จิบชา และจีบ เช่นจีบสาว หรือคำว่า ตี กับ ดี (หากไม่ใช่คนที่คุ้นเคยภาษาไทย จะแยกเสียง 2 คำนี้ยากมาก) และถ้าหากคำว่า "ตีได้ดี" มาอยู่ติดกัน คนที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาไทยแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าพูดอะไร (จะได้ยินเป็นแค่เสียงขึ้น ๆ ลง ๆ )
นอกจากนี้ เจ้าตัวยังมีการรีวิวตัวพยัญชนะอีกด้วย คือ พยัญชนะสะกดกับอักษรนำที่ส่งผลต่อการออกเสียงและความหมายในภาษาไทย ( เช่น ขยับ, จมูก, อย่า, อยู่, อย่าง, อยาก) และมีเรื่องของพยัญชนะที่ส่วนใหญ่จะเขียนมีหัวกลม ๆ และเขียนคล้าย ๆ กัน เช่น ก-ภ-ถ (เขียนเหมือนกัน แค่มีหัวหรือไม่มีหัว-หัวเข้าข้างในหรือหัวออกด้านนอก), ฤ-ฎ-ฎ (เขียนคล้ายกัน ต่างกันแค่หัวออกข้างในหรือข้างนอก ตรงหางมีกี่หยัก) ณ-ญ (ลักษณะคล้ายกัน)