พายุจ่อเข้า 3-4 ลูก

พายุจ่อเข้า 3-4 ลูก

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จู่ๆ หลายจังหวัดในประเทศไทย รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร เจอกับสภาพอากาศ หนาวแบบฉับพลัน เรียกว่า หนาว กว่าตอนหน้าหนาวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เสียอีก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก ที่ไม่ค่อยเจอบ่อยนักที่เราจะเจอลมหนาวในช่วงเดือนเมษายน

ต่อมาทางกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวไปแล้ว ว่ามันคือ อิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้น มันชวนให้เราคิดว่า ปีนี้เราจะเจออะไรอีก และถ้าเข้าสู่หน้าฝน จะเจอฝนตกหนัก หรือ ห่าฝน ไปลงที่ไหนได้บ้าง เราจึงชวน นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) TEAMG หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ มาคุย และทำนายอนาคต จากข้อมูลว่าปีนี้ เราจะเจออะไรบ้าง

ลานีญา ลากยาวถึงสิงหาคม คาดยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

ช่วงเริ่มต้น กูรูด้านการจัดการน้ำ กล่าวถึงปรากฏการณ์ ลานีญา (La Niña) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ถือเป็นจังหวะดีที่เกิดหลังฤดูฝนของภาคกลาง ทำให้ไม่มีอะไรซ้ำเติมมาที่ภาคอีสาน และจากการพยากรณ์โดยใช้แบบจำลอง ของสหรัฐฯ จากการตรวจวัดน้ำทะเลแปซิฟิก 200 จุด เพื่อดูปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้ง เอลนีโญ และ ลานีญา พบว่า เวลานี้ยังอยู่ที่ปรากฏการณ์ ลานีญา หมายความว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ในปี 2564-2565 ยังถือว่ามีฝนมาก น้ำมาก และจากการอัปเดตข้อมูล ล่าสุด ยืนยันได้มากกว่า 50% ปีนี้ยังมีน้ำมากไปจนถึงเดือนสิงหาคม

ปรากฏการณ์ ลานีญา จะทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติ และช่วงนี้พื้นที่ที่ได้รับผลคือ พื้นที่ภาคใต้ ตอนแรกคาดการณ์ว่าจะตกหนักในวันที่ 3-4 เมษายน แต่เกิดไม่ตก มาตกหนักในวันที่ 5 เมษายน โดยเฉพาะ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 587 มิลลิเมตร ถือว่าตกมากที่สุดในรอบปี ซึ่งปีก่อนตกเพียง 400 มิลลิเมตร ก็เกิดน้ำท่วมหนักแล้ว แต่ปีนี้กลับเผชิญที่หนักหน่วงกว่า ทำให้ชาวบ้านรับมือไม่ทัน

เมื่อถามว่า มีบางคนทักว่า ปีนี้ฝนจะมาเร็วขึ้น เหมือนปี 2554 นายชวลิต บอกว่า จากที่ดูข้อมูลเชื่อว่าฝนยังมาตามปกติ ไม่เร็วขึ้น เพราะเวลานี้ฝนตกหนักยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จากนั้นจะค่อยๆ เลื่อนขึ้นมา และฝนจะเริ่มตกหลังวันที่ 15 พฤษภาคม ถือเป็นช่วงตามปกติ เข้าสู่ฤดูฝน โดยในช่วงแรกของฤดูฝน จะมีฝนตกหนักมาก หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม ก็จะมีฝนน้อยลง แต่เชื่อว่าจะ ไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง

คาดปีนี้จะเจอพายุเข้า 3-4 ลูกตามปกติ แต่ต้องจัดการน้ำให้ดี

ปีนี้เชื่อว่าอาจจะเจอพายุประมาณ 3-4 ลูก ในช่วง สิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ปกติไม่ได้มากหรือน้อยไป แต่สิ่งจำเป็น คือ การจัดการน้ำ ต้องทำให้ดี ต้องบริหารน้ำ ตามสถานการณ์พายุที่เข้ามาตามฤดูกาล

สำหรับ ภาคเหนือ และภาคกลาง เวลานี้ยังไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะอ่างเก็บน้ำยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกเยอะ ซึ่งหลังพฤษภาคมจะมีฝนตกเยอะ อาจจะรับน้ำได้เต็มๆ และเชื่อว่ากรมชลประทาน อาจจะปล่อยน้ำลงมาเยอะหน่อย ไม่จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ในช่วงต้นฤดูฝน

ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ภาคอีสานกับตะวันออก ปีที่แล้วภาคอีสาน เจอพายุเข้า เจอความกดอากาศต่ำฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูฝน เจอน้ำท่วม น้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ มีเพียงเขื่อนลำปาว เขื่อนเดียวที่ไม่เต็ม ขณะที่ ภาคตะวันออก จะคล้ายกับภาคอีสาน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน ก็ยังพอเก็บน้ำไว้ได้ แต่ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี

ภาวะโลกร้อน รุนแรง ไทยเผชิญหน้า ห่าฝนเป็นหย่อม

สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างหนัก และเห็นชัดเจนในเวลานี้ คือ เรากำลังเผชิญหน้ากับ ภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ปัจจุบัน เราเห็นฝนตกหนัก 500-600 มิลลิเมตร เกือบทุกปี ซึ่งจะมาในลักษณะ ฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ

ซึ่งตามปกติฝนไม่ได้ตกหนักแบบนี้ 500-600 มิลลิเมตร เป็น 10 ปี เราจะเจอสักครั้ง แต่ปัจจุบันเราเจอเกือบทุกปี ซึ่งเวลานี้ฝนตกปริมาณ 300-400 มิลลิเมตร ได้ตลอด ซึ่งปีที่แล้วเกิด 2 ครั้ง คือ ที่สุราษฎร์ธานี 1 ครั้ง ประมาณ 300 มิลลิเมตร และจันทบุรีอีก 1 ครั้ง 460 มิลลิเมตร และที่สิชล เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา 587 มิลลิเมตร

นายชวลิต พยายามย้ำว่า ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องสรุปให้ดีว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากภาวะโลกร้อน เช่น ฝนตกหนักเป็นหย่อม ซึ่งปีนี้เราเห็นแล้วที่ภาคใต้ และโอกาสต่อมา อาจจะไปที่ภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

กทม.เจอห่าฝน 300-400 มิลลิเมตร อาจจมบาดาลเป็นวัน

เมื่อถามว่า กรุงเทพฯ จะรับไหวไหม หากเจอปริมาณฝนมากแบบนี้ กูรูด้านการจัดการน้ำ บอกว่า ถ้าฝนตก 300-400 มิลลิเมตรแบบนี้ก็จะท่วมเป็นวัน สำหรับพื้นที่แอ่งกระทะ หรือที่ลุ่มต่ำ ในบางพื้นที่ฝนตกแค่ 60 มิลลิเมตร น้ำก็ท่วม 2-3 ชั่วโมงแล้ว เพราะต้องระดมเครื่องสูบน้ำมาสูบออก ซึ่งที่ผ่านมา เคยตกถึง 120 มิลลิเมตรมาแล้ว ที่นิคมบางปู ซึ่งไม่ใช่เรื่องพนังกันน้ำพัง แต่เป็นฝนตกหนักบริเวณนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ กรุงเทพฯ จะเจอฝนระดับสูงกว่า 100 มิลลิเมตรอีกหรือไม่

ที่ผ่านมา มีข่าวว่า ที่ประเทศจีนเพิ่งเผชิญน้ำท่วมหนัก จาก ฝนพันปี นายชวลิต อธิบายว่า กรณีดังกล่าวต้องเทียบสถิติ บางครั้งข่าวก็พูดเกินจริงไป เพราะปริมาณฝนที่เจอครั้งนั้นคือที่เจิ้งโจว ปริมาณฝนประมาณ 400 มิลลิเมตร เพียงแต่บริเวณนั้น ไม่ค่อยเจอฝนแบบนี้บ่อย 300-400 ปี เจอครั้ง แต่เมืองไทยปริมาณฝนแบบนี้ ประเทศไทย 10 ปีหน

หรืออย่างที่บรัสเซลส์ ที่เบลเยียม ฝนตกหนักบนภูเขา ซึ่งความจริง คือ ปริมาณ 200 มิลลิเมตร ถามว่าเยอะไหม ไม่เยอะเพียงแต่เขาไม่ค่อยเคยเจอ เจอในรอบ 60 ปี ซึ่งบางพื้นที่ในต่างประเทศ มีความเสียหายเยอะมาก สาเหตุเพราะไม่ค่อยเจอ จึงไม่มีการสร้างระบบป้องกัน ฝากถึง ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 พายุจ่อเข้า 3-4 ลูก โลกร้อนต้องระวัง ฝนเป็นหย่อม น้ำท่วมฉับพลัน

ขอบคุณ thairath

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ