เสฐียรพงษ์ วรรณปก เสียชีวิตแล้ว
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ นักปรัชญาศาสนา ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 18.33 น. ของวันที่ 6 เมษายน 2565 หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 83 ปีทั้งนี้ ญาติแจ้งว่า สาเหตุของการเสียชีวิต เนื่องจากอาการทรุด อาการเส้นเลือดในช่องท้องและหัวใจ
ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ก่อนที่จะส่งตัวมารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ วันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้น ญาติจะตั้งศพที่วัดตรีทศเทพวรวิหาร โดยมีการสวดพระอภิธรรม เป็นเวลา 5 คืน และจะเก็บศพไว้เป็นเวลา 100 วัน
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ที่ อ.บรบือ ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง จ.มหาสารคาม จบการศึกษา ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาสี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2548 และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2550
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา และภาษาบาลี มีผลงานด้านปรัชญาศาสนามากมาย อาทิ คาถาพาหุงคาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์, คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม, พระสูตรดับทุกข์, คาถาชินบัญชรพร้อมประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) (แปลและเรียบเรียง), ชีวิตตัวอย่าง : หมอชีวกโกมารภัจจ์, พระพุทธเจ้ากับพระเยซูคริสต์พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร, สติสมาธิ, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์, มีศัพท์มีแสง และ ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเผยแพร่บทความในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระภิกษุ โดยการชักชวนของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ต่อมา เขียนบทความลงในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน อีกด้วย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต โดยเฉพาะกรณีอดีตพระยันตระ อมโร รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการตั้งชื่อเป็นมงคลนามแก่เจ้าของชื่อ
ขณะที่ ส. ศิวรักษ์ นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย ได้โพสต์ข้อความอาลัยต่อการเสียชีวิตของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Sulak Sivaraksa" โดยระบุว่า... [ แด่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ] . เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ . ต่อมาเสฐียรพงษ์ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไร เขาก็สึก . เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เขาเคยอยู่มหาวิทยาลัย เดิมเขาเขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อไทยรัฐไม่เล่นงานธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่กับมติชน และมีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชน และกับทางเคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงก็เป็นหนังสือตั้งชื่อ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะๆ . ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่าเขาจะไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
ศิวรักษ์ 6-4-65 ภาพ : ส.ศ.ษ. เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 ในวันคล้ายวันมรณภาพของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี) วัดทองนพคุณ
ที่มา ‘สำนักงานราชบัณฑิตยสภา’ เฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa