โควิดโอมิครอน ลูกผสม XE พบในไทยแล้ว 1 ราย
วันที่ 2 เมษายน 2565 แฟนเพจ Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เราเคยประสบมา
XE เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 X BA.2 ไม่ใช่ เดลตาครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง เดลตา X โอมิครอน WHO ยังไม่ตั้งชื่อให้อย่างเป็นทางการจนกว่า XE จะแสดงอาการทางคลินิกที่รุนแรงแตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน
สำหรับสายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน หรือ XD WHO แจ้งว่าไม่พบการระบาดที่รวดเร็ว (transmissibility) และอาการที่รุนแรง (severity) แต่ประการใด
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ติดเชื้อ ชาวไทย 1 ราย และจากตรวจกรองด้วยเทคโนโลยี Massarray Genotyping พบสายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน (เดลตา X โอมิครอน) อีก 1 ราย ซึ่งต้องยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง
โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม โดยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง
WHO ประเมินว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE มีอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10% อย่างไรก็ตามยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่งเพื่อการยืนยัน (ภาพ 1, 3)
ตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Services Agency) หรือ UKHSA ยืนยันเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43%
คงต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่
อนึ่งจากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมในเดือนมีนาคม 2565 ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย อยู่ในระหว่างการดำเนินการอัปโหลดขึ้นแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลก GISAID และเร่งแจ้งไปยังแพทย์ผู้ส่งตรวจทราบต่อไป
หมายเหตุ การจัดหมวดหมู่ลูกผสมโดย Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak Lineages (PANGOLIN) หมวด 1 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Delta x BA.1 ประกอบด้วยสมาชิก 2 สายพันธุ์
I. XD-เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง Delta x BA.1 lineage พบในฝรั่งเศส ประกอบด้วยยีน S ที่สร้างหนามแหลม ส่วนอื่นเป็นจีโนมจากเดลตา
II. XF-จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.1 กับส่วน 5 จากจีโนมของเดลตา
หมวด 2 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง BA.1XBA.2 ประกอบด้วยสมาชิก 6 สายพันธุ์
I. XE-พบในอังกฤษ จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.2 กับส่วน 5 จากจีโนมของ BA.1 แสดงอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือ BA.2 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีถอดรหัสพันธุกรรมพบแล้ว 1 ราย
II. XG-พบในเดนมาร์ก
III. XH-พบในเดนมาร์ก
IV. XJ-พบในฟินแลนด์
V. XK-พบในเบลเยียม มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม อู่ฮั่น เกือบ 100 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์ ยังไม่พบในประเทศไทย
VI. XL-พบในอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามาธิบดี เผยตรวจพบโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ลูกผสม XE ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย หลัง WHO เตือนแพร่เชื้อได้เร็วกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีมา
ขอบคุณ Center for Medical Genomics