กรุสมบัติ หลวงพ่อเย็น หลังมรณภาพ  เงินสด 10 ล้าน ตกเป็นของใคร

กรุสมบัติ หลวงพ่อเย็น หลังมรณภาพ เงินสด 10 ล้าน ตกเป็นของใคร

ภายหลังพระครูสีตจิตธรรมคุณ หรือหลวงพ่อเย็น สัตจิตโต อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม หมู่ 1 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มรณภาพด้วยวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา

จนเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2565 ครบ 50 วัน ตามมติคณะกรรมการวัดป่าทรงธรรม ในการเปิดกุฏิหลวงพ่อเย็น ร่วมกับกลุ่มญาติและผู้เกี่ยวข้อง ได้ทำให้ทุกคนอยู่ในอาการตะลึงเมื่อพบกรุสมบัติเงินสด 10 ล้านกว่าบาท ซึ่งเป็นเงินปัจจัยจากกิจนิมนต์ ทั้งธนบัตรเก่าและใหม่ รวมทั้งเหรียญ รวม 5 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่อยู่ในซองยังไม่ได้แกะซุกอยู่ใต้เตียงและที่ต่างๆ และเงินสดอีก 5 ล้านกว่าบาทอยู่ในกระเป๋า เป็นเงินประกันชีวิตที่ได้คืนมา

ด้วยเพราะหลวงพ่อเย็น เป็นพระสมถะ บวชมานานมากกว่า 61 พรรษา แม้รับดูดวงให้กับญาติโยม แต่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง และไม่สนใจเงินปัจจัยใดๆ เมื่อได้มาจึงมีการนำมาไว้ในกุฏิชั้นบน และตัวหลวงพ่อเย็น จำพรรษาอยู่ชั้นล่าง กระทั่งมรณภาพ ทิ้งเงินไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และนำเงินทุกบาทฝากธนาคาร โดยมีชื่อญาติ 3 คนอยู่ในบัญชีด้วย

ท่ามกลางข้อถกเถียงว่ากรรมสิทธิ์ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ จะตกเป็นของฝ่ายญาติ หรือทางวัด เนื่องจากไม่ได้ทำพินัยกรรมทิ้งไว้ ขณะที่หลานชายของหลวงพ่อเย็น ยังคลางแคลงใจกับจำนวนเงิน คาดว่าน่าจะมากกว่านี้ ประมาณ 30-40 ล้านบาท พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีการงัดกุฏิมาก่อนหน้านี้ จากร่องรอยความผิดปกติที่พบเห็นหลายจุด

เพื่อความโปร่งใสและความสบายใจแก่ทุกฝ่าย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ศรีมหาโพธิ ไม่รอช้า ได้ลงพื้นที่ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ทำการตรวจสอบพื้นที่รอบๆ และภายในกุฏิ พบมีคราบฝุ่นหนา และหยากไย่เต็มไปทั่ว โดยยืนยันจากร่องรอยของฝุ่นในช่วง 1 เดือน ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาในกุฏิแต่อย่างใด

มีแนวโน้มว่ากรุสมบัติเงินสดของหลวงพ่อเย็น มูลค่า 10 ล้านกว่าบาท หลังการมรณภาพ จะตกเป็นของวัด เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 เขียนไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุ ที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิต หรือโดยพินัยกรรม

ส่วนมาตรา 1624 ระบุว่า ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้น หาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

ข่าวโดย ชัชวาล ศิริปิ่น ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จังหวัด ปราจีนบุรี

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ