อย.ทลายโรงงานเถื่อน 2 แห่ง ฟัน ไส้กรอก 13 ยี่ห้อ ไม่มีอย.

อย.ทลายโรงงานเถื่อน 2 แห่ง ฟัน ไส้กรอก 13 ยี่ห้อ ไม่มีอย.

วันที่ 13 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจจับโรงงานเถื่อนผลิตไส้กรอก ว่า กรณีการตรวจโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี ที่ผลิตไส้กรอกจนทำให้มีผู้บริโภคป่วยนั้น ผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ พบปริมาณไนไตรท์เกินกฎหมายกำหนด 35-48 เท่า จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี นอกจากนี้ อย.ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบ

ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จแล้ว 66 จังหวัด สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่มีความเสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์ และดำเนินคดีกรณีจำหน่ายไส้กรอกที่ไม่มีฉลากแสดงที่ จ.สระบุรี อุทัยธานี และพระนครศรีอยุธยา

ภก.วีระชัย กล่าวต่อว่า กรณีของ จ.สระบุรี ตรวจพบเป็นไส้กรอกที่รับมาจากสถานที่ผลิตเถื่อนใน จ.ชลบุรี ส่วนของ จ.อุทัยธานี ตรวจพบมีสินค้าที่ฉลากเหมือนกับที่เจอใน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วย

เป็นเหตุให้ขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานลักลอบผลิตไส้กรอกโดยไม่ขออนุญาตที่ จ.พระนครศรีอยุธยาอีก 2 แห่ง กรณีนี้อายัดสถานที่และของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท โดยตรวจจับและดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ คือ

1.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา เคน หมูชีส (มีเปลือก) 2.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันไก่ (มีเปลือก) 3.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันหมู (มีเปลือก) 4.Super-Rich ไส้กรอกชีสนม (มีเปลือก)

5.Super-Rich คอกเทลรมควัน (มีเปลือก) 6.Super-Zaab ไส้กรอกแฟร้งไก่ (มีเปลือก) 7.เคนจิ.ฟุตลองชีส (มีเปลือก) 8. เคนจิ ฟุตลองรมควันหมู (มีเปลือก) 9.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC 10.KC หมูยออุบล 11.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา FC จัมโบ้คลาสิค (มีเปลือก) 12.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา ริช ไส้กรอกรมควัน (มีเปลือก) 13.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ไส้กรอก ไม่มีฉลาก

นอกจากนี้ สสจ.ทุกจังหวัดแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะขั้นตอนการเติมวัตถุกันเสีย และกรณี อย.พม่า เตือนประชาชนห้ามรับประทานไส้กรอกจากประเทศไทย ยี่ห้อ ฤทธิ์ นั้น อย.ขอความร่วมมือ ให้ สสจ.ที่ติดชายแดนเพิ่มการเฝ้าระวังแหล่งจำหน่ายในตลาดชายแดน และเพิ่มการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ