หอยแมลงภู่ โผล่เต็มหาดสมิหลา โดนทักเป็นลางไม่ดีหรือเปล่า งานนี้มีคำตอบแล้ว
หอยแมลงภู่ เป็นหอยที่อาศัยด้วยการเกาะตามโขดหินและตามไม้ไผ่บริเวณชายฝั่งทะเล และเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างมากเพราะสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่างนั่นเอง
งานนี้ก็เกิดเรื่องฮือฮากับหอยแมลงภู่ขึ้นมา เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อว่า Hongsanart Prachakittikul ได้โพสต์ภาพลงในกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะ ภาพสวยสงขลา พร้อมกับระบุแคปชันว่า
หอยแมลงภู่ริมหาดสมิหลา 23/01/2565 แนวโขดหินริมทะเลระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากรค่ะ โดยภาพดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่ามีหอยแมลงภู่โผล่เต็มโขดหินบริเวณชายหาดเรียกได้ว่าน่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
หลังจากโพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปก็มีชาวเน็ตเข้ามาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นก็ยังมีชาวเน็ตอีกบางส่วนที่ตั้งข้อสงสัยว่าหรือนี่อาจจะเป็นสัญญาณบอกเหตุอะไรหรือเปล่า หรือเป็นแค่ฤดูกาลของธรรมชาติเอง
ซึ่งงานนี้ก็ได้รับคำตอบไขข้อข้องใจแล้วเรียบร้อย เพราะเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องราวนี้ว่า
วันที่ 27 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Hongsanart Prachakittikul ได้โพสต์ในเพจภาพสวยสงขลา
ผลการตรวจสอบพบว่าเป็นการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ชนิด Perna viridis (Linnaeus, 1758) ขนาดเล็ก (ความยาวเปลือก 2.2 ซม. ความกว้างเปลือก 1.3 ซม.) อายุเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน พบยึดเกาะตามแนวโขดหินในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงช่วงเขตระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากร (หลังโรงแรมบีพีสมิหลาบีช) คิดเป็นพื้นที่การแพร่กระจายประมาณ 2,217 ตร.ม.
จากกรณีดังกล่าวเป็นการแพร่กระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งนี้หอยแมลงภู่บริเวณนี้มีการวางไข่ได้ตลอดปีแต่มีช่วงฤดูวางไข่ที่หนาแน่นอยู่ 2 ช่วง คือเดือนมีนาคม เมษายน และตุลาคม ธันวาคม
และหากพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหารพวกแพลงก์ตอนพืช/แพลงก์ตอนสัตว์ที่สมบูรณ์ คุณภาพน้ำและปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสม รวมถึงมีวัตถุที่เหมาะต่อการลงเกาะของตัวอ่อนก็มีโอกาสพบการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กลุ่มเฟซบุ๊ก ภาพสวยสงขลา โดย Hongsanart Prachakittikul และ ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง