เปิดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไทย จากการสูญเสียหมอกระต่าย
เป็นเหตุการณ์เศร้าสลดเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนคนเดินข้ามถนน บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
ทราบชื่อ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย อาการสาหัส ไม่มีชีพจร ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ผู้บาดเจ็บอีกราย
เป็นตำรวจยศ ส.ต.ต. ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ Ducati สีแดง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 15.10 น.
จากมุมมองดังกล่าว ทางทีมงานได้เริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูญเสียการมองเห็นของคนหนึ่งคน และนำมาคำนวนต่อยอดเพื่อหาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จักษุแพทย์ 1 คน สามารถป้องกันได้
เราได้แนวคิดของการคำนวนความเสียหายทางเศรษฐกิจของการสูญเสียการมองเห็นในประเทศไทย โดยการนำรายได้เฉลี่ยของประชากรต่อหัวของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 ที่ 238,111.72 ต่อปี มาใช้เพื่อคำนวนการสูญเสียรายได้ โดยคิดจากการอ้างอิงของตัวแปรต่าง ๆ ดังนี้
ประสิทธิภาพในการทำงานที่เหลือหลังจากการสูญเสียการมองเห็น โดยจะพิจารณาประสิทธิภาพในการทำงานที่เหลืออยู่ 25% สำหรับผู้ที่สูญเสียการมองเห็นที่ยังสามารถทำงานได้ และ ประสิทธิภาพในการทำงานที่เหลืออยู่ 0% สำหรับผู้ที่สูญเสียการมองเห็นที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยมีอัตราส่วนของ ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ที่ 20% และ ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นที่ไม่สามารถทำงานได้อยู่ที่ 80% [2]
ระยะเวลาของผลกระทบต่อการสูญเสียการมองเห็น จะพิจารณาการสูญเสียการมองเห็นจะส่งผลกระทบต่อรายได้เป็นระยะเวลา 10 ปีในผู้ใหญ่ และส่งผลกระทบต่อรายได้เป็นระยะเวลา 33 ปีในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี [2]
อัตราการรักษาหรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็น จะอยู่ที่ 75% ในผู้ใหญ่และ 50% ในเด็ก [2]
สัดส่วนประชากรในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 พบว่าสัดส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอยู่ที่ 16.2% [6]
จำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยคือ 70 ล้านคน [5]
ความชุกของภาวะตาบอด (the prevalence of blindness) ที่ 0.6% [4]
จำนวนจักษุแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวน 966 คน [1]
โดยจะคำนวน อัตราการลดลงของประสิทธิภาพการทำงานโดยเฉลี่ย จากนั้นนำมาคำนวนความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อคนในเด็กและผู้ใหญ่ และคำนวนเพื่อหาความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สามารถป้องกันได้จากการรักษาหรือการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น และนำไปคูณกับความชุกของภาวะตาบอดในประเทศไทยและจำนวนประชากรเพื่อให้ได้ ความสูญเสียโดยเฉลี่ยที่สามารถป้องกันได้ (ต่อทั้งประเทศไทย) และนำมาหารด้วยจำนวนจักษุแพทย์ในประเทศไทยพบว่า จักษุแพทย์ 1 คน สามารถป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยจากการรักษาหรือการป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้เป็นจำนวนเงิน 881 ล้านบาทต่อคน
ทั้งนี้ในการประเมินมูลค่าจากการจากไปของหมอกระต่ายนั้น เราพิจารณาเพียงแค่มูลค่าที่เกิดจากการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นซึ่งเป็นมูลค่าทางตรงเท่านั้น ยังไม่รวมมูลค่าทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาเฉพาะทาง, มูลค่าในเชิงการลงทุน และยังไม่นับรวมสิ่งดีอื่น ๆ ที่หมอกระต่ายสามารถมอบไว้ให้กับสังคมได้หากไม่เสียชีวิต