หวาดวิตกอีกระรอก เมื่อนักไวรัสวิทยา ชี้ โอไมครอน อาจกลายพันธุ์จนติดลงปอดได้
วันนี้ 21 ม.ค.65 เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana หรือ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ระบุข้อความว่า
โอไมครอน ที่ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่นำมาศึกษาวิจัยจะเป็นสายพันธุ์หลัก เรียกว่า BA.1 ซึ่งในความเป็นจริง BA.1 มีความหลากหลายในตัวเองมากมาย โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งหนึ่งบนโปรตีนหนามสไปค์ที่พบได้ใน BA.1 ที่มีการกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกคิดเป็น 15-20% ของ BA.1 ทั้งหมด คือ การเปลี่ยนตำแหน่งที่ 346 จาก Arginine ไปเป็น Lysine (R346K)
ซึ่งมีข้อมูลว่าตำแหน่ง 346 นี้มีส่วนสำคัญให้ BA.1 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้หลบหลีกแอนติบอดีได้ดีกว่า BA.1 โดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการก่อโรคของ BA.1 ในสัตว์ทดลอง ซึ่งการศึกษาจากหลายแล็บที่ใช้ BA.1 ในหนูแฮมสเตอร์ดูจะสอดคล้องกันว่า โอไมครอน BA.1 ติดแฮมสเตอร์ได้น้อยมาก โดยเฉพาะความสามารถในการติดเชื้อในปอดซึ่งแทบจะไม่พบปริมาณไวรัสในตัวสัตว์ทดลองเลย
แต่เมื่อวานนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งออกมาจากทีมวิจัยในอินเดียแสดงว่า หนูแฮมสเตอร์ที่ติด "โอไมครอน" สามารถพบไวรัสในปอดหนูที่สูงมาก ปอดมีร่องรอยความเสียหายไม่แตกต่างจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งทีมวิจัยพบว่าไวรัสที่นำมาใช้ศึกษาแตกต่างจากทุกๆที่ก่อนหน้านี้คือ เป็น BA.1 ที่มี R346K ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติแตกต่างจาก BA.1 ส่วนใหญ่
"โอไมครอน" มีความหลากหลายมากกว่าที่คิดนะครับ เราจะเห็นข้อมูลลักษณะนี้ออกมาเรื่อยๆซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้จากไวรัสที่กำลังปรับตัวให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด ไม่รวมสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์น้องของโอไมครอน BA.1 ที่ดูเหมือนจะแพร่กระจายไวเช่นเดียวกัน คงต้องเฝ้าติดตามข้อมูลและปรับความเข้าใจไวรัสตัวนี้ต่อไปเรื่อยๆครับ
ขอบคุณ คมชัดลึก