ปธ.กองทุนหมู่บ้าน พูดแล้ว หลังสาวร้อง แท็งก์น้ำลุงตู่ โผล่ในที่ดิน
จากกรณีที่ทางด้าน น.ส.วรภรพรหมสรรค์ การีกลิ่น อายุ 35 ปี ชาวบ้าน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากแท็งก์น้ำประปาหมู่บ้านหมู่ที่ 2 ที่เข้ามาติดตั้งอยู่บนที่ดิน ทั้งที่ไม่ได้รับความยินยอม แม้เดินหน้าร้องเรียนมานานกว่า 5 ปี แต่ไม่เป็นผล ซ้ำโดนกล่าวหาว่าไร้น้ำใจ
นายหอม บัวเบา ประธานกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.เตาปูน อ.โพธาราม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมพิจารณาโครงการก่อสร้างแท็งก์น้ำประปาหมู่บ้าน
นายหอม เปิดเผยว่า ในปี 2559 ทางชุมชนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ตามโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน เพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 500,000 บาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งจากการทำประชาคมกับชาวบ้าน จำนวน 3 ครั้ง มีมติจัดสร้างน้ำประปาหมู่บ้าน โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำ จำนวน 5 แห่ง
แต่จากการสำรวจพบว่าบริเวณที่ดินของ น.ส.วรภรพรหมสรรค์ (ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่ดินบรรพบุรุษ) สามารถขุดพบแหล่งน้ำ และมีความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบกระจายน้ำบาดาลได้มากที่สุด นายฉลองชัย พราหมณ์โสภา ซึ่งเป็นลุงของ น.ส.วรภรพรหมสรรค์ จึงเอ่ยปากอนุญาตให้ทางชุมชนดำเนินการจัดสร้างด้วยวาจา แต่ไม่มีการลงนามเอกสารยินยอมเป็นรายลักษณ์อักษร
โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนสิ้นสุดโครงการ เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - พ.ย.2559 ปัจจุบันมีชาวบ้านกว่า 150 หลังคาเรือนได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำ ที่ผ่านมา น.ส.วรภรพรหมสรรค์มาพูดคุยกับตน เพื่อให้ดำเนินการรื้อถอนแท็งก์น้ำดังกล่าวออกจากพื้นที่ ซึ่งตนอยู่ระหว่างจัดหางบประมาณ และพื้นที่ติดตั้งแห่งใหม่
นอกจากนี้ นายมงคล นาคเนียม นายกเทศมนตรีตำบลเขาขวาง โดยได้เปิดเผยว่า หลังจากโครงการก่อสร้างประปาหมู่ที่ 2 แล้วเสร็จ ได้มีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล แต่มีปัญหาด้านการจัดเก็บรายได้ จนทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ เป็นหนี้ค่าไฟฟ้ากว่า 1 แสนบาท จนส่งมอบมาให้ทางเทศบาลดูแล
จากกรณีที่มีการร้องเรียนแท็งก์น้ำประปารุกล้ำที่ดินเอกชน ทั้งนี้หากมีการรื้อถอนเกิดขึ้น ยอมรับว่าชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบในเรื่องความแรงของน้ำ เพราะระบบน้ำประปาในพื้นที่ทั้งหมดเป็นลักษณะเชื่อมต่อกัน
โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามทางเทศบาลได้เร่งสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำ เพื่อรองรับกับปริมาณความต้องการการใช้น้ำที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด