เปิดลิสต์พืชเศรษฐกิจ ราคาเพิ่มขึ้นในปี 65
หลังจากสถานการณ์ CV – 19 ไทยในฐานะครัวของโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ทั้งการเเข่งขันที่มากขึ้น การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศที่มีประชากรมากกว่าครึ่งเป็นเกษตรกร
โดยในปีหน้า 2565 สินค้าเกษตรที่คาดว่า ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น มี 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา มันสําปะหลัง อ้อยโรงงาน ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคเนื้อ ในส่วนของยางคาดว่าความต้องการใช้ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ส่วนมันสําปะหลังไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
อ้อยโรงงาน จากราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ โคเนื้อ ไก่เนื้อ สุกร ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้านไข่ไก่ ผลจากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา
ส่วนสินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะอยู่ใน เกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าว ปาล์มนํ้ามัน ทุเรียน และมังคุด โดยข้าวมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ปาล์มนํ้ามันเนื่อง จากราคาเป็นไปตามทิศทางราคานํ้ามันปาล์มดิบในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เเละต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
ส่วนทุเรียนและมังคุด ยังทรง ๆ แต่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริมจากการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการในการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดและผู้บริโภค
ขณะที่สินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะอยู่ในระดับ ใกล้เคียง กับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ลําไย เงาะ นํ้านมดิบ กุ้งขาวแวนนาไม โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีประกันรายได้ และที่สำคัญคือจากแนวโน้ม ความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนสับปะรดโรงงานคาดว่าจะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ลําไยและเงาะตลาดโลกยังต้องการ ส่วนนํ้านมดิบเนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อนํ้านมดิบ ส่วนภาคประมง เนื่องจากราคากุ้งของไทยยังถูกกําหนดโดยราคากุ้งในตลาดโลกเป็นหลัก จึงไม่สามารถปรับราคาให้สูงขึ้นได้ แม้จะยังมีความต้องการของตลาดต่างประเทศซึ่งยังเป็นฐานลูกค้าเดิม
ด้าน นายคมกริช นาคะลักษณ์ รองประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ปัญหาหลักในขณะนี้คือพื้นที่เกษตรของไทยส่วนใหญ่ถูกใช้ปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น ปี 2555 - 2559 ไทยปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ใช้พื้นที่ปลูก 109 ล้านไร่ สร้างรายได้ 7 แสนล้านบาท ถัดมาปี 2560 - 2564 พื้นที่เพาะปลูกลดลงเหลือ 106 ล้านไร่ สร้างรายได้ 6.3 แสนล้านบาท
ขณะที่การปลูกผลไม้ ใช้พื้นที่ปลูก 2.58 ล้านไร่ สร้างรายได้ 63,000 ล้านบาท และเมื่อปี 2560 - 2564 เพิ่มพื้นที่ 3.5 ล้านไร่ สามารถสร้างรายได้ 1.3 แสนล้านบาท
เรียบเรียง siamnews