ไฟเขียว จ่ายเงินเยียวยาตกงาน สูงสุด 100 เท่า

ไฟเขียว จ่ายเงินเยียวยาตกงาน สูงสุด 100 เท่า

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หามาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างให้ได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีการระบาด cv

ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีการจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้อง รวมถึงการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในอัตราที่เหมาะสม

ต่อมา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ดังนี้

1. กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

สำหรับกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับการจ่ายเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม ดังนี้

จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี

จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี

จาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป

2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย

สำหรับกรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม จาก 60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

โดยระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 ธันวาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป

ลูกจ้างรับเงินสงเคราะห์อย่างไร

ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ จากสาเหตุนายจ้างประสบปัญหาทางการเงินเพราะสาเหตุการระบาด cv สามารถขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10

ขณะที่ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวว่า ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือไม่จ่ายเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นต้น เพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป สามารถมายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้

เบื้องต้นได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ หากการระบาด cv ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ระเบียบนี้ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ