กรมสรรพากร ตอบแล้ว หลังโซเชียลสงสัย รายได้พิมรี่พาย 100ล้าน ใน 5 นาที
กล่องสุ่ม พิมรี่พาย มาอีกรอบ คราวนี้ขายกล่องละ 1 หมื่นบาท ทำลายสถิติเดิมเปิดขาย 5 นาที โกยเงิน 100 ล้านบาท กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้วครั้งหนึ่ง สำหรับ กล่องสุ่ม ที่ พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ไลฟ์สดเปิดขาย แล้วมีลูกค้ามาเข้าซื้อถล่มทลายเป็นสถิติเพียง 10 นาที ในราคากล่องสุ่มละ 1 แสนบาท ทำเงินไปได้ 100 ล้านบาท แถมยังมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ให้กับลูกค้ามากมาย และยังมีคนได้รถเก๋งป้ายแดงกันไปหลายรายนั้น
ล่าสุด วันที่ 5 ธ.ค. หลังช่วงเที่ยงที่ผ่านมา พิมรี่พาย ได้เปิดขายกล่องสุ่ม ในราคา 10,000 บาท ปรากฏว่าผ่านไปไม่ถึง 5 นาที ขายหมด 10,000 กล่อง ปิดยอดสวยๆ ไปที่ 100 ล้านบาท
ซึ่งครั้งนี้พิมรี่พายไม่บอกว่าเป็นกล่องสุ่มอะไร พร้อมย้ำว่า ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่การชิงโชค แต่เป็นการขายสินค้า และไม่ได้สัญญาว่าจะให้อะไรในกล่อง ต้องไปลุ้นกันเอาเอง
งานนี้ชาวโซเชียลได้สงสัยว่าพิมรี่พาย รายได้ขนาดนี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่ เพราะเพียงแค่ 5-10 นาทีก็ได้ไปแล้ว 100 ล้าน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อขอคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็น และชี้แจงว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ว่ามีข่าวหรือมีข้อเท็จจริงอย่างไร ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกรมสรรพกรมีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบภาษีจากการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ โดยล่าสุด กฎหมายภาษี e-Payment (ภาษีอีเพย์เมนต์) หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 เป็นต้นมา
กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ ต้องรายงานธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขให้กรมสรรพากรทราบ โดยธุรกรรมที่ว่าคือรายการ ฝากหรือรับโอน ที่ในแต่ละปีเข้าเงื่อนไขว่า คือ ฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป โดยมียอดรวมทั้งปี 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเป็นปีที่ 2