ต่างชาติแห่ซื้อผลหมาก ส่งออกพุ่งเฉียด 5,000 ล้าน
เรื่องนี้มีที่มาจาก กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกหมากไปยังตลาดหลัก 15 ประเทศทั่วโลก ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ คือช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม 2564 พบว่า มีมูลค่าสูงเฉียด 5,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ส่งออกเพียง 2,029.17 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 2,286.41 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกับช่วง มกราคม-ตุลาคม 2563 ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า มีหลายประเทศยอดส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิเช่น เมียนมา ปี 2564 ส่งออก 4,035.10 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 1,280.54 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวสูงถึง 215.11% บังกลาเทศ ปี 2564 ส่งออก 263.30 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 319.64 ล้านบาท ติดลบ -17.62% เวียดนาม ปี 2564 ส่งออก 207.33 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 18.88 ล้านบาท ขยายตัว 998.19% เป็นต้น
โดยเฉพาะเมียนมาที่ต้องการนำเข้าหมากไทยเพื่อส่งออกไปอินเดีย สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนมกราคม 2555 ระบุใจความสำคัญได้ว่า อินเดียมีผลผลิตหมากประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิตหมากทั้งหมดในโลก หรือประมาณ 330,000 ตันต่อปี อันดับสองจีนมีผลผลิตประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 162,250 ตันต่อปี อันดับสามคือ เมียนมา ประมาณ 57,000 ตันต่อปี
ปัจจุบันชนชั้นแรงงานยังนิยมกินหมากกันมาก และในเชิงธุรกิจ มีการใช้หมากเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใยและการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร
โดยลูกหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลคาลอยด์ ชื่อ อาเรโคลีน มีแทนนินสูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแหและอวน ซึ่งทำให้นิ่มและอ่อนตัวและยืดอายุการใช้งานได้นาน
ดังนั้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีผลผลิตลูกหมากจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ต้องนำเข้าทั้งหมากดิบและหมากแห้งจากต่างประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เมียนมา เนปาล และไทย ดังนั้น ตลาดสินค้า หมาก ในอินเดียจึงเป็นตลาดสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้
ขณะที่ตลาดส่งออกจีนเติบโตสูงสุดถึง 84,500% โดยจีนรับซื้อหมากไทยในราคาเพียง 25 บาท/กก. แต่ไปแบ่งใส่ถุงขายในโลกออนไลน์ในราคาสูง และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีบริษัทจีนแห่งหนึ่งที่ตระเวนซื้อ หมากอ่อน ในภาคใต้ของไทยมา 3 ปี โดยลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปที่ จ.พัทลุง เพื่อส่งขายทั่วโลก
จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยเปิดเผยต้นทุนการปลูกหมากตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 7,639 บาท/ไร่ เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4-5 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 458 กก./ไร่ เกษตรกรขายหมากแห้งได้ราคา 40-45 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ 27,013 บาท/ไร่/ปี โดยเกษตรกรภาคใต้นิยมปลูกแซมกับพืชอื่น เพื่อเสริมรายได้แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว
เรียบเรียง siamnews