รู้จัก รอยเลื่อนสะกาย ตัวการแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 เขย่าแรงสะเทือนถึงไทย

รู้จัก รอยเลื่อนสะกาย ตัวการแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 เขย่าแรงสะเทือนถึงไทย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มี.ค. 2568 ความรุนแรงขนาด 8.2 ระดับลึก 10 กม. ซึ่งศูนย์กลางอยู่อยู่ที่ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 326 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ของประเทศไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน นอกจากนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย รายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว สาเหตุเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ของเมียนมา

สำหรับ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) นับเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนที่มีพลัง (active fault) สำคัญอันดับต้นๆ ในแถบประเทศอาเซียน

มิตรเอิร์ธ - mitrearth ระบุว่า รอยเลื่อนสะกายมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอก ของประเทศเมียนมา และพาดผ่านแทบทุกเมืองสำคัญ เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) และยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน จึงถูกขนานให้เป็น ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา

รอยเลื่อนสะกาย ยังถูกขนานนามว่าเป็น ทางด่วนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เนื่องจากมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เกิดแผ่นดินไหวแบบแรงเฉือนสูง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อความเร็วการแตกของแผ่นดินไหวเกิน ความเร็ว คลื่น S และอาจไปถึงความเร็วคลื่น P การแตกที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลได้ รูปทรงที่ค่อนข้างตรง ของรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรูปทรงยาวต่อเนื่อง รอยเลื่อนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ แผ่นดินไหวแบบแรงเฉือนสูงจึงอาจส่งผลกระทบร้ายแรง

รอยเลื่อนสะกาย เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้งในเมียนมา เช่น พ.ศ.2455 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลายแรงสั่นสะเทือนครั้งนั้นสามารถรับรู้ได้ถึงภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2473 ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน

จากข้อมูลระหว่าง พ.ศ.2516 - 2566 พบรายงานว่า รอยเลื่อนสะกาย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.0 อย่างน้อย 668 ครั้ง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ