ประกันสังคม แจงตัด 3 โรค พ้นโรคด่วนที่ต้องผ่าตัดใน 15 วัน หลังทำเอ็มโอยูใน 76 สถานพยาบาล

ประกันสังคม แจงตัด 3 โรค พ้นโรคด่วนที่ต้องผ่าตัดใน 15 วัน หลังทำเอ็มโอยูใน 76 สถานพยาบาล

วันที่ 26 มี.ค. 2568 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการประกันสังคม ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 เปิดเผยถึงมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา กรณีเห็นชอบการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนด้วยการทำหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ว่า ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มีการทำโมเดล “SSO 515 :5 โรค 15 วัน” ขึ้นมา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ผู้ป่วย 5 กลุ่มโรคได้รับการผ่าตัดภายใน 15 วัน ใน 76 สถานพยาบาล ที่มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ สปส.

โดยนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, ก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่, โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ความเจ็บป่วยทั้ง 5 โรคนี้ อยู่ในสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิตัวเองได้อยู่แล้ว แต่การทำโมเดล SSO 515 ขึ้นมา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การนำร่อง SSO 515 มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการจำนวนมาก จากการติดตามผล พบว่า 3 จาก 5 โรค คือ โรคมะเร็งเต้านม, ก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ และโรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี ไม่ได้เป็นความเร่งด่วนที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดภายใน 15 วัน อีกทั้งสถานพยาบาลตามสิทธิก็สามารถให้การดูแลรักษาได้

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า การประชุมบอร์ดประกันสังคมที่ผ่านมา จึงมีมติให้นำ 3 โรคที่ไม่เร่งด่วนกลับเข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลที่ตนมีสิทธิอยู่ หรือเข้ารับบริการในโครงการ “SSO cancer care” เป็นโครงการที่เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการยังสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งที่มีศักยภาพตามที่ สปส.กำหนดเพิ่มเติม นอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดตามแนวทางการรักษา (Protocol) และกรณีนอกเหนือแนวทางการรักษา (Non-Protocol)

รวมถึงการสนับสนุนค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และนอกบัญชียาหลักฯ ยาฮอร์โมนและค่ายามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาราคาสูง ที่อยู่ในบัญชียา จ(2) รวมถึงการจ่ายเพิ่มเติมค่ายานอกบัญชียาหลักฯ ใน 2 รายการ คือ Ribociclib และ Palbociclib เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 2 โรค คือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด จากข้อมูลพบว่า มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการสูงสุด และมีความเร่งด่วนฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงมีมติให้ดำเนินการใน 2 โรคดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเพิ่มระบบบริการทางการแพทย์ดังกล่าว สปส.ได้จัดทำเอ็มโอยูการให้บริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยนำร่องรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่

1.หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง รักษาหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยการทำหัตถการ Thrombectomy ภายใน 6 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่มาถึงโรงพยาบาล มีสถานพยาบาล 40 แห่ง ได้แก่ รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จ.สมุทรปราการ, รพ.เทพธารินทร์ กทม., รพ.เกษมราษฎร์บางแค กทม., รพ.เวิล์ดเมดิคอล จ.นนทบุรี, รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม กทม., รพ.ศิครินทร์ กทม., รพ.วิภาราม กทม., รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น กทม.

รพ.พญาไท นวมินทร์ กทม., รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์ กทม., รพ.เพชรเวช กทม., รพ.ไทยนครินทร์ กทม., รพ.กล้วยน้ำไท กทม., รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง กทม., รพ.แพทย์รังสิต จ.ปทุมธานี, รพ.ราชธานี จ.อยุธยา, รพ.วิภารามปากเกร็ด จ.นนทบุรี, รพ.ภัทร-ธนบุรี จ.ปทุมธานี, รพ.เกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ จ.เชียงราย, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.พัทลุง, รพ.กรุงเทพหาดใหญ่ จ.สงขลา, รพ.มงกุฎวัฒนะ กทม.

รพ.รามาธิบดี กทม., รพ.กรุงเทพภูเก็ต จ.ภูเก็ต, รพ.ซีจีเอส สายไหม กทม., รพ.บุรีรัมย์, รพ.ระยอง, รพ.กรุงเทพราชสีมา จ.นครราชสีมา, รพ.กรุงไทพสนามจันทร์ จ.นครปฐม, รพ.เกษมราษฎร์อินเตอร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี, รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ กทท., รพ.วชิระภูเก็ต, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.หัวเฉียว กทม., รพ.มหาชัยเพชรรัตน์ จ.เพชรบุรี, รพ.สุราษฎร์ธานี, รพ.เปาโลพหลโยธิน กทม., รพ.กรุงเทพเวสเทิร์น จ.นนทบุรี และ รพ.ราชวิถี กทม.

2.หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด 7 หัตถการ กรณีอาการฉุกเฉินให้ทำหัตถการภายใน 60 นาที มีสถานพยาบาล 12 แห่ง ได้แก่ สถาบันประสาทวิทยา กทม., รพ.วิภาราม กทม., รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง กทม., รพ.พระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี, รพ.ระยอง, รพ.บุรีรัมย์, รพ.สุราษฎร์ธานี, รพ.ยโสธร, รพ.พัทลุง, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.ลำพูน และ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี

โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ผู้ประกันตนสามารถไปตรวจที่สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลอื่นและให้สถานพยาบาลตามสิทธิส่งตัว หรือผู้ประกันตนสามารถนำผลการตรวจและเอกสารที่แพทย์ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือทำหัตถการ ไปยังสถานพยาบาลที่ทำความตกลงข้างต้น โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงจะให้การดูแลจนสิ้นสุดการรักษา กรณีที่มีการรักษานอกเหนือจากการผ่าตัดหรือทำหัตถกรรมที่กำหนด ให้กลับไปรักษาสถานพยาบาลตามสิทธิ ผ่านการส่งตัวโดยโรงพยาบาลที่ทำความตกลง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ