
ชัดแล้วแล้ว ระบบจ่ายเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต เงิน 10,000
ความคืบหน้าการพัฒนาระบบชำระเงิน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 ให้วัยรุ่นเป็น เงินดิจิทัล 10,000 นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA กล่าวว่า
ระบบจะเสร็จวันที่ 31 มี.ค.นี้เป็นต้นไปส่วนจะเริ่มใช้เงินได้เมื่อนั้น ต้องรอให้ทางรัฐบาลเป็นคนประกาศ
สำหรับประชาชนที่ใช้งาน เพียงแค่มีแอปพลิเคชันบัญชีธนาคาร หรือ โมบายล์ แบงก์กิ้ง หากธนาคารนั้นๆเข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 20 ธนาคาร ประชาชนก็สามารถใช้เงินดิจิทัลผ่านแอปธนาคารได้ทันที แต่ต้องเลือกเพียง 1 ธนาคารเท่านั้น ว่าจะใช้ธนาคารใดในการรับเงิน โดยเงินดิจิทัล ธนาคารจะทำเป็นกระเป๋าดิจิทัลแยกต่างหาก
ในส่วนของร้านค้าจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการลงทะเบียนร้านค้า คือ กระทรวงมหาดไทย สำหรับรับลงทะเบียนร้านค้ารายย่อย รวมถึงการตรวจสอบว่ามีร้านค้าจริงหรือไม่ และ กระทรวงพาณิชย์ สำหรับลงทะเบียนร้านค้ารายใหญ่ ส่วนร้านค้ารายเล็กที่รับเงินดิจิทัลจากประชาชน จะไม่ได้รับเงินสด ต้องนำเงินดิจิทัลที่ได้ไปซื้อกับร้านค้ารายใหญ่ ร้านค้ารายใหญ่จะสามารถเบิกเป็นเงินสดได้
ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การแจกเงิน 10,000 ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่แจกเงิน แต่เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัลเพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ เงินอยู่ในระบบเห็นผลต่อ GDP ชัดเจน แจกเป็นเงินสดไหลไปสู่ใต้ดินได้ ไม่สามารถนำมาวัด GDP ได้
พร้อมกันนี้ กระทรวงดีอีและ DGA ได้ลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการบริการข้อมูลความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล ความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน“ทางรัฐ
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงดีอี กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอม ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้นการให้ความรู้และการแจ้งเตือนภัยจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและทั่วถึง
โดยกระทรวงดีอี ได้ร่วมกับ DGA บูรณาการข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล ความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และการแจ้งเตือนภัยข่าวปลอมแก่ประชาชน ผ่านแอปฯ ทางรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาการถูกหลอกลวงทางออนไลน์จากมิจฉาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลข่าวสารและบริการต่าง ๆ ด้านนางไอรดา เสริมว่า จากสถานการณ์การหลอกลวงทางสื่อออนไลน์หรือการปล่อยข่าวปลอมจากมิจฉาชีพยังคงรุนแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการเอ็มโอยูในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการทวีความเข้มข้นในการป้องกันภัยที่เกิดจากปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ในเชิงรุกได้อย่างแท้จริง โดยการให้ความรู้ และแจ้งเตือนภัยผ่านแอปฯทางรัฐ
ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 41 ล้านดาวน์โหลด ทำให้มั่นใจได้ว่าแอปฯ ทางรัฐจะเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐที่มีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารข้อมูลและการแจ้งเตือนต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังเป็นช่องทางจากรัฐโดยตรงประชาชนเชื่อใจได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นข้อเท็จจริง
ปัจจุบันแอปพลิเคชันทางรัฐมีบริการภาครัฐกว่า 179 บริการ รวมถึงบริการประเภทแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 / แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย 1567 /การแจ้งเหตุคดีพิเศษ DSI 1202 หรือ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารได้ที่แอปฯ ทางรัฐ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้แอปฯทางรัฐ กำลังพัฒนาบริการแจ้งเบาะแสยาเสพติดรวมถึงการแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงการเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันภัยจากข่าวปลอม และจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง