
ARDA ส่งเสริมนวัตกรรมปลูกข้าวญี่ปุ่นในพื้นที่ จ.เชียงราย ลดการนำเข้า 50 ล้านบาท เกษตรกรกำไรพุ่ง 19%
วันที่ 14 มีนาคม 2568 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA จัดกิจกรรม สื่อมวลชนสัญจร นำคณะสื่อมวลขนลนลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ชมนวัตกรรมงานวิจัยต่อยอดนโยบาย Soft Power ยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยก้าวข้ามกับดักความยากจน
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับขับเคลื่อนนวัตกรรมงานวิจัยเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้วยการสร้าง Brand หรือ Story เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ประจำถิ่น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรไทย
ภายใต้แนวคิด ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อาทิ ชา ข้าว กาแฟ สับปะรด พืชสมุนไพร ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีโอกาสต่อยอดสู่สินค้าเกษตรนวัตกรรมมูลค่าสูง การจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมตัวอย่างโครงการวิจัยที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในการทำเกษตรในพื้นพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา หรือ ARDA กล่าวว่า หนึ่งในไฮไลต์สำคัญเริ่มต้นของทริปนี้คือการลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวญี่ปุ่น หรือ ข้าวจาปอนิกา ซึ่งเป็นสินค้าตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่ประเทศไทยต้องน้ำเข้า กว่า 2,100 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศยังไม่เพียงพอ
อีกทั้ง เกษตรกรต้องประสบปัญหาการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ARDA จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กรมการข้าว และผู้ประกอบการภาคเอกชน พัฒนาเมล็ดพันธ์ข้าวญี่ปุ่นให้ได้มาตรฐานพรีเมี่ยม พร้อมจัดทำชุดเทคโนโลยีสำหรับใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่เกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เหมาะสม การผลิตต้นทุนสูง การรับรองมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงปัญหาด้านช่องทางการตลาด
ซึ่งผลจากการส่งเสริมโครงการวิจัยนี้ ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมจำนวน 90 คน มีผลผลิตข้าวจาปอนิกาเพิ่มขึ้น 10% เฉลี่ย 945 กก./ไร่ ต้นทุนทุนการผลิตลดลง 14% เหลือ 5,096 บาท/ไร่ ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 19% หรือประมาณ 6,567 บาท/ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมการปลูกตามมาตรฐาน GAP ขยายพื้นที่ปลูกได้จำนวน 40 ราย ขยายพื้นที่ปลูกได้ 279 ไร่ โดยมีเกษตรกรได้รับรองมาตรฐานแล้ว 35 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการสร้างมาตรฐานโรงสีด้วยการพัฒนาโรงสีต้นแบบให้ได้มาตรฐาน GHP/HACCP ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของ จ.เชียงราย ในการปั้น ข้าวญี่ปุ่นสัญชาติไทย ลดนำเข้า ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมข้าวพรีเมียมเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน รอง ผอ. ARDA กล่าว
ผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงราย รายงาน