
กกพ. เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟหน้าร้อนเดือน พ.ค. - ส.ค.นี้ เปิดรับฟังความเห็น คนไทย ลุ้นจ่าย 4.15-5.16 บาทต่อหน่วย
วันนี้ (11มี.ค.68) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าเอฟที ในงวด พ.ค.- ส.ค. 2568 ยังคงมีภาระการชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ยังผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และ แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จากสภาพอากาศร้อน ทำให้ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ลงได้
กกพ. จึงนำมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 3 กรณี เปิดรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณา เรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 68 ดังนี้
กรณีที่ 1 : ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 137.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย
และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 21.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 121.00 สตางค์ต่อหน่วย
โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-ธันวาคม 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.16 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 2 : ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ทั้งหมด) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 116.37 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย)
โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาท ต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท
กรณีที่ 3 : กรณีตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 14,590 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ.ต่อไป
โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 60,474 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.15 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน
ทั้งนี้ กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11-24 มีนาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป