
เปิดรายชื่อธนาคาร ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้
จากกรณีที่ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% มาอยู่ที่ 2.00% เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 ซึ่งก็มีธนาคารหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย มีที่ไหนบ้างมาดูกัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนให้เกิดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 68
โดยได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ดังนี้
ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR : Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.325% เป็น 7.075% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR : Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.175% เป็น 7.075% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR : Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.925% เป็น 6.825% ต่อปี
ธนาคารกสิกรไทย
นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ระบุ ธนาคารตอบสนองต่อมาตรการดังกล่าวด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้าทุกกลุ่มสูงสุด 0.25% เพื่อดูแลและช่วยเหลือลูกค้าบรรเทาภาระหนี้ ลดต้นทุนทางการเงิน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน โดยธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลวันที่ 4 มี.ค. 68 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จาก 7.34% เป็น 7.09% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดจาก 7.15% เป็น 7.05% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดจาก 7.18% เป็น 7.08% ต่อปี
ธนาคารกรุงไทย
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อ และช่วยเหลือลูกค้าประชาชนลดภาระทางการเงิน และปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าได้อย่างราบรื่น มีผล 3 มี.ค. 68
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.270% ต่อปี เป็น 7.020 % ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยเงินลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 6.925% ต่อปี เป็น 6.825 % ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.445% ต่อปี เป็น 7.345 % ต่อปี
ทีทีบี
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.25% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย MLR และอัตราดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.10% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 68 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงเทพ
นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงสูงสุด 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 68 เป็นต้นไป
MLR หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ปรับเป็น 6.825% ต่อปี
MOR หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เป็น 7.10% ต่อปี
MRR หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เป็น 6.95% ต่อปี
ธนาคารกรุงศรีฯ
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยใหม่เป็นดังนี้
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 7.155% เป็น 7.055%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 7.325% เป็น 7.075%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 7.275% เป็น 7.175%
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 68 เป็นต้นไป
ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
ธนาคารออมสิน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR)และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี MOR ลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยMLR ลดมาเหลือ 6.65% และ MOR ลดมาเหลือ 6.495% ให้มีตั้งแต่ 5 มี.ค.-31 ส.ค. 68
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงิยกู้ลูกค้าชั้นดี (MRR) ขอคงอัตราเดิมที่ 6.595% ด้วยเหตุผลว่า MRR ของธนาคารปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในระบบ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดย MOR ลง 0.25 % เหลือ 6.625% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.15% ต่อปี เหลือ 6.725% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่ 7 มี.ค. 68 เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลง 0.10% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.250% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลง 0.25% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.40% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.– 31 ส.ค. 68 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ที่ 6.545% ต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมา ธอส. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐอื่น
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย prime rate ที่เทียบเท่ากับ MRR ลง 0.10% ทำให้อัตรา prime rate เหลือ ที่ 6.25% มีผลตั้งแต่ 10 มี.ค. 68 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับตัวรับมือปัจจัยท้าทายและแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก