ตำรวจไซเบอร์ ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบิน

ตำรวจไซเบอร์ ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ รวบตัวการสำคัญคาสนามบิน

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.68 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พ.ต.ท.คมคิด บำเพ็ญบุญ สว.กก.4 บก.สอท.2 นำกำลังเข้าจับกุมนายกฤษณะ นัน ไร อายุ 34 ปี สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5696/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.2567 ในความผิดฐาน สมคบกันตั้งแต่ สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมช้ามชาติร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน โดยจับกุมได้ภายในอาคารผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะเดินทางเข้ามาประเทศไทย

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า สำหรับในคดีนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม67 มีผู้เสียหายเป็นหญิงสูงอายุสัญชาติอเมริกันพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาเรื่องการล็อกอินเข้าบัญชีอีเมล์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft Account) จึงได้เข้าค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของทีมช่วยเหลือจากบริษัทไมโครซอฟต์ผ่าน Google Search และได้พบหมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์หนึ่ง จึงได้ทำการติดต่อ จากนั้นได้มีบุคคลปลายสายซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงคนอินเดีย ได้แอบอ้างว่าเป็นทีมช่วยเหลือของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยได้ทำทีให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งโปรแกรมควบคุมการเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงทำตามที่คนร้ายแนะนำ และกดอนุญาตให้คนร้ายแก้ไขข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์

โดยคนร้ายแจ้งว่าได้แก้ไขบัญชีอีเมล์ให้เสร็จแล้ว ทางไมโครซอฟต์จะ Refund เงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 49.99 USD แต่คนร้ายอ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายเกินไป จำนวน 49,999 USD คนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินคืน เนื่องจากใส่ตัวเลขจำนวนเงินผิด หากผู้เสียหายไม่โอนเงินคืน คนร้ายต้องถูกไล่ออกจากบริษัท ผู้เสียหายสงสารและหลงเชื่อ สุดท้ายจึงโอนเงินไปยังบัญชีนิติบุคคลของธนาคารหนึ่งในประเทศไทย จำนวน 49,840 USD หรือประมาณ 1,738,916 บาท นอกจากนี้ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเรียบร้อย คนร้ายยังได้ส่งข้อความเยาะเย้ยผู้เสียหายว่าถูกหลอกให้โอนเงิน

โดยทางผู้เสียหายได้ติดต่อธนาคารและแจ้งกับเจ้าหน้าที่ FBI ในสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทำให้ทราบว่าผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารจำนวน 2 บัญชี โดยคนร้ายได้ใช้โปรแกรมควบคุมระยะไกลโอนเงินของผู้เสียหายจากบัญชีธนาคาร A ไปยังบัญชีธนาคาร B จำนวน 49,999 USD  โดยผู้เสียหายไม่ได้ทำรายการโอนด้วยตนเองแต่อย่างใด ทำให้มียอดเงินเข้าบัญชีธนาคาร B คนร้ายจึงหลอกว่าโอนผิด แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินจากธนาคาร เข้าบัญชีคนร้ายที่อ้างว่าเป็นของบริษัทไมโครซอฟ กระทั่งทาง FBI สหรัฐอเมริการได้ประสานมายัง บช.สอท. เพื่อดำเนินการอายัดบัญชี และสืบสวนจับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พร้อมชุดสืบสวนได้สืบสวนจนพบหลักฐานว่า มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้ใช้บัญชีธนาคารที่จดทะเบียนโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด รับโอนเงินจากผู้เสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวการสำคัญที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดและใช้บัญชีธนาคารดังกล่าว เป็นคนสัญชาติอินเดียโดยคนอินเดียกลุ่มนี้ มักหลอกลวงคนไทยที่ต้องการกู้เงินหรือยืมเงินให้นำเอกสารส่วนตัวไปให้ จากนั้นจะนำเอกสารของคนไทย มอบให้ตัวแทนนายหน้าที่รับจดทะเบียนนิติบุคคลไปดำเนินการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยตัวแทนมีค่าดำเนินการจดทะเบียนจำนวน 7,000 บาท จากนั้นจะนำเอกสารนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าในการรับเงินจากเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ โดยบัญชีม้านิติบุคคลสามารถโอนเงินได้ครั้งละเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องยืนยันตัวตน และสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อโอนเงินง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อนิติบุคคล

จึงทำการสืบสวนพบความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารของ นายชาญ พุฒไทย กรรมการของ หจก.พัลเมตโต โดยในวันเกิดเหตุนั้น พบว่ามีการโอนเงินจาก หจก.ทินท์ เรียลตี้(บัญชีม้า) ไปยังบัญ ชีธนาคารของนายชาญ จำนวน 104,400 บาท เมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีนายชาญ พบว่ามีเงินในบัญชีถึง 1,000,048.96 บาท จึงได้อายัดบัญชีธนาคารดังกล่าว เพื่อส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังพบว่าบัญชีธนาคารของนายชาญ ได้ถูกใช้โอนเงินซื้อทองคำแท่งจากร้านทองแห่งหนึ่ง ย่านพาหุรัด กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยมีชายชาวอินเดียเป็นผู้ไปรับทองคำแท่งดังกล่าว จึงเชื่อว่าเป็นลักษณะการกระทำเป็นขบวนการและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่ากระทั่งวันที่ 20 มิ.ย.67 ตำรวจชุดสืบสวน กก.4 บก.สอท.2 พร้อม เจ้าที่ตำรวจกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท. นำหมายค้นศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 243/2567 ลง 19 มิ.ย. 67 เข้าทำการตรวจค้นบ้าน หลังหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.สามกอ อ.เสนา จว.พระนครศรีอยุธยา พบนายอาสวานิ กุมาร์ซิงห์ สัญชาติอินเดีย เป็นผู้ครอบครองและพักอาศัยอยู่กับแฟนสาวที่บ้านดังกล่าว ตรวจค้นภายในบ้าน พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบัตร ATM ซึ่งเป็นชื่อบัญชีธาคารที่ใช้กระทำผิดของผู้ร่วมขบวนการและของกลางอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19 รายการ จึงทำการยึดไว้ตรวจสอบ เพื่อหาหลักฐาน

จากการขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐาน สามารถแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดเป็นคนไทย 3 ราย ประกอบด้วย  นายชาญ พุฒิไท อายุ 69 ปี น.ส.ประนอม สร้อยพิมพ์สิทธิ์ อายุ 59 ปี กรรมการ หจก.ทินท์ เรียลตี้ และน.ส.สร้อย ไม้สนธิ์ อายุ 45 ปี กรรมการ หจก. ทินท์ เรียลตี้ ในความผิดฐาน ยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีธนาคารไปใช้

โดยทั้ง 3 ราย เบื้องต้นให้การว่าได้นำเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน ให้นายกฤษณะ นัน ไร ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงทราบภายหลังว่าตนเองถูกนำหลักฐานไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับนายกฤษณะ นัน ไร อายุ 34 ปี ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการรวบรวมข้อมูลบุคคลไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคล ซึ่งไหวตัวหลบหนีเดินทางกลับประเทศอินเดียไปก่อนหน้านี้ กระทั่งทราบข้อมูลว่านายกฤษณะ นัน ไร จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันนี้ จึงให้ตำรวจชุดสืบสวนเข้าจับกุมตัวไว้ได้คาสนามบิน เบื้องต้นให้การยอมรับว่ามีหน้าที่ขนทองคำแท่งจากไทยกลับไปขายที่อินเดีย เนื่องจากทองคำของไทยมีเปอร์เซ็นต์ของทองคำที่สูงกว่าในอินเดีย ตามคำสั่งของหัวหน้าขบวนการอีกคนที่ยังหลบหนีหมายจับอยู่นอกประเทศ

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ