
ยะลาอ่วมหนัก! ฝนถล่มต่อเนื่องจนเกิดน้ำป่าไหลหลาก ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 2 หมื่นหลังคาเรือน
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 67 หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน ใน อ.เบตง จ.ยะลา นายสมัคร นอระพา นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ พร้อมด้วยนายอับดุลรามัน คอแดะ กำนัน ต.ธารน้ำทิพย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบดินสไลด์ถนนทรุดตัว พื้นที่ ม.3 บ้านกาแป๊ะซาลัง ต.ธารน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้าน ม.5 บ้านราโมง ตำบลยะรม
หลังเกิดดินสไลด์ถนนทรุดตัวของไหล่ทางเป็นเหวลึกกว่า 4 เมตร ทำให้พื้นถนนเกือบขาดออกจากกันเป้นแนวยาว 15 เมตร และใต้ถนนยังเกิดโพรงลึกที่พร้อมจะถล่มลงมาทุกเมื่อ หากไม่มีการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนและผู้ใช้เส้นทาง ทำให้รถทุกประเภทไม่สามารถผ่านได้ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสาร เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงยะรมได้ติดตั้งป้ายเตือน และนำแผงกั้นจราจร ไปกั้นจุดที่เกิดดินสไลด์เอาไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน
นอกจากนี้ ฝนที่ตกติดต่อกันอย่างต่อเนื่องยังทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำได้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ได้รับความเสียหายจำนวนมาก บ่อปลาของชาวบ้านกาแป๊ะซาลัง ถูกน้ำท่วม ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้หลายพันตัว หลุดหายไปกับกระแสน้ำ ทั้ง ๆ ที่อีก 1 เดือนจะจับขาย หลังรอคอยมานาน 4 เดือน เท่ากับเงินไหลไปกับกระแสน้ำ โดยนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้เฝ้าระวังและออกประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้กับภูเขาและเนินเขาให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่ อาจทำให้สถานการณ์ดินสไลด์รุนแรงขึ้นได้
ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลา ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดยะลา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ตามที่ได้มีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2567 ปริมาณฝนสะสม ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่จังหวัดยะลา
ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา จำนวน 10 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,501 ครัวเรือน 66,004 คน อ.ยะหา จำนวน 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน 360 คน และ อ.บันนังสตา จำนวน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน 80 คน ส่วนพื้นที่อื่น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มยังมีฝนตกต่อเนื่อง จังหวัดยะลาได้แจ้งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความความพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และได้มีการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางแจ้งเตือนระดับน้ำที่จะลันตลิ่งทั้งแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานีให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ชนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยงไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลาได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวจังหวัดยะลา รายงาน