ข่าวดี รับเพิ่มเป็น 1,000 บาท เงินสงเคราะห์บุตร
การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งมีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จากเดิม 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม.
โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งให้ปรับอัตราเหมาจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นอัตรา 1,000 บาท ต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคนสำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี และได้สิทธิคราวละไม่เกิน 3 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดิมอยู่แล้ว เมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ สำนักงานประกันสังคมจะปรับเงินสงเคราะห์บุตรของเดือนมกราคม 2568 เป็น 1,000 บาท ให้โดยอัตโนมัติ
2. กรณีผู้ประกันตนที่มีสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตรใหม่ ต้องยื่นแบบคำขอรับ ประโยชน์ทดแทนกับสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานฯ จะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรของเดือนมกราคม 2568 เป็น 1,000 บาท ให้โดยอัตโนมัติเช่นกัน (ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี)
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506
สำหรับ เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ทุกๆ สิ้นเดือน แต่หากตรงกับวันหยุด หรือ วันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะทำการโอนให้ล่วงหน้าก่อนไม่เกินเที่ยงคืน
ปฏิทินเงินสงเคราะห์บุตร 2567
เดือนพฤศจิกายน : วันศุกร์ที่ 29 พ.ย.2567
เดือนธันวาคม : วันอังคารที่ 31 ธ.ค.2567
ขั้นตอนยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.เข้าไปที่เว็บไซต์ประกันสังคม https://www.sso.go.th/
2.ใส่รหัสเพื่อเข้าสู่ระบบ/หรือสมัครสมาชิก (หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก)
-กรอกรหัสผู้ใช้งาน (เลขบัตรประจำตัวประชาชน)
-กรอกรหัสผ่านผู้ใช้งาน
3.หลังเข้าระบบสำเร็จ ให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนูยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง (e-Self Service)
4.จากนั้นให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนู "ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุน"
5.จากนั้นผู้ประกันตนเลือก "สงเคราะห์บุตร "
6.ให้ผู้ประกันตนกรอกข้อมูลตามที่ระบบระบุไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงอัปโหลดเอกสารลงในระบบได้เลย
ขั้นตอนยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคม
1.ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
2.เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3.สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
4.พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถยื่นเรื่องรับสิทธิภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ และได้รับถึงเมื่อบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์เท่านั้น โดยต้องส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ตลอดระยะเวลา 36 เดือนก่อนคลอด จึงจะได้รับสิทธิ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร
-บุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
-ตัวบุตรเสียชีวิต
-ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
-สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
โดยทางสำนักงานประกันสังคม ยังให้สิทธิกับผู้ประกันตนชายมาตรา 33, 39 รับสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรแทนภรรยาที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ด้วย ผ่าน 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
หลักเกณฑ์ที่ 1 กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คุณพ่อเบิกเท่าที่จ่ายจริง จำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป วงเงินเบิกจ่ายตามลำดับ ตั้งแต่ 200-500 บาทต่อครั้ง
หลักเกณฑ์ที่ 2 คุณพ่อสามารถรับสิทธิค่าทำคลอดแบบเหมาจ่าย เป็นเงิน 15,000 บาท เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่ภรรยาจะคลอดลูก
หลักเกณฑ์ที่ 3 คุณพ่อที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยา หรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน สามารถขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์