หลายคนยังไม่รู้ ส่งเงินประกันสังคมไปแล้ว ขอคืนได้กรณีไหนบ้าง

หลายคนยังไม่รู้ ส่งเงินประกันสังคมไปแล้ว ขอคืนได้กรณีไหนบ้าง

เงินประกันสังคม ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประสังคม ซึ่งทุกเดือนต้องจ่าย "เงินประกันสังคม" หรือเงินที่ถูกหักสะสมค่าประกันสังคมในทุกๆ เดือน จำนวน 5% ของเงินเดือน โดยลูกจ้างแต่ละคนจะจ่ายไม่เท่ากัน เพราะคิดตามฐานเงินเดือนแต่ละคนในอัตรา 5% ของรายได้ต่อเดือน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ตั้งแต่ 250-750 บาทต่อเดือน

โดยเงินประกันสังคมดังกล่าวนั้น มีไว้สำหรับสิทธิประโยชน์ในการดูแลเรื่องต่างๆ ของผู้ประกันตน ซึ่งจะสามารถขอเงินคืนได้ ในกรณีดังนี้

1.ชดเชยกรณีว่างงาน

สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม กรณีว่างงาน ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน คือ บุคคลที่เป็น "ผู้ประกันตนมาตรา 33" และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน

-กรณี "ว่างงาน" จากการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

-กรณีถูกเลิกจ้างได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน คำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

2.เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญ

เงินชราภาพ เงินสะสมเงินชราภาพ ประกันสังคมเริ่มมีการเก็บเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับเงินคืน ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ นั่นหมายถึงว่าแม้ว่าสถานะจะสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนไปแล้วก็ตาม จะต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนถึงจะสามารถยื่นเรื่องรับสิทธิได้ โดยแบ่งเป็น 2 แบบดังนี้

1. เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข

- จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินจำนวนเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไป

- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย+เงินสมทบนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน

2. เงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข

- จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5%

เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน

3.เงินบำเหน็จ เงินสงเคราะห์ กรณีเสียชีวิต

สิทธิประโยชน์ กรณีเสียชีวิต สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 หากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับ 3 สิทธิ เงินสงเคราะห์ บำเหน็จชราภาพและค่าทำศพ โดยมีเงื่อนไขผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย

เงินบำเหน็จชราภาพ หากผู้ประกันตนเสียชีวิต

ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืนโดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ ได้แก่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา หรือ บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ

1.ผู้ประกันตนก่อนเสียชีวิตขอรับเงินบำนาญแล้ว

- กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว เสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

- กรณีผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

- กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

- กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 10 เท่า

2.ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี

ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ตามกฎหมายประกันสังคมกำหนด ไม่มีสิทธิรับเป็นเงินบำนาญ แม้จะส่งเงินสมทบครบ 15 ปี โดยทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี

เงินค่าทำศพ ผู้ประกันตน ม.33 ม.39

สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท

ใครคือผู้จัดการศพ

- บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

- สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

- บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ความตาย

เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย เป็นการให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เท่านั้น

แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้

- ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

- ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ